ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ซุกซ่อนในผลิตภัณฑ์ฐานพืช (Plant-based foods) และอื่นๆอีกมาก

ใน พ.ศ.2544 เกิดปัญหาฮาลาลในการผลิตผงชูรสที่อินโดนีเซียเมื่อผู้บริโภคมุสลิมพบว่าเอนไซม์ที่ใช้ในกระบวนการผลิตน้ำยาเลี้ยงเชื้อแบคทีเรียที่ใช้หมักผลผลิตทางการเกษตรได้มาจากสัตว์ต้องห้ามในศาสนาอิสลาม กระแสต่อต้านผงชูรสเป็นไปอย่างกว้างขวาง วันเวลาผ่านมา 8 ปี ถึง พ.ศ.2552 ปัญหาเดิมเกิดขึ้นอีกครั้งในปากีสถาน อุตสาหกรรมการผลิตน้ำยาเลี้ยงเชื้อเมื่อได้รับผลกระทบจึงทดแทนเอนไซม์จากสัตว์ด้วยเอนไซม์จากจุลินทรีย์ เช่น แบคทีเรีย ยีสต์ และเชื้อรา ซึ่งนักวิชาการศาสนาอิสลามให้คำตัดสิน (ฟัตวา) ว่าใช้ได้อย่างถูกต้อง ข้อได้เปรียบของเอนไซม์จากจุลินทรีย์เทียบกับเอนไซม์จากสัตว์ คือ ผลิตได้ง่าย มีประสิทธิภาพ ใช้เทคนิคการหมักหลากหลาย คุ้มทุน สร้างปฏิกิริยาได้ดี เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปลอดภัย ผลิตได้ในปริมาณมาก ปรับเปลี่ยนผ่านวิธีการทางโมเลกุลและชีวเคมีได้ง่าย เลือกยีนได้หลากหลาย ทั้งยังมีแหล่งของเอนไซม์ให้เลือกอีกมาก เหตุที่ไม่เลือกใช้เอนไซม์กลุ่มนี้มาตั้งแต่ต้นเนื่องจากก่อนหน้านั้น เอนไซม์จากสัตว์ราคาถูก หาได้ง่าย ใช้กันมานาน สารเคมีที่เป็นปัญหาข้างต้นคือ Sodium inositate (INS631) ภายหลังใช้เอนไซม์จากจุลินทรีย์เป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศวฮ.) พบว่ามีสารเคมีอีกมากถึง 186 ชนิดที่ยังคงใช้เอนไซม์จากสัตว์ในกระบวนการผลิต ได้แก่ INS234, 261-1, 261-2, 262-1, 262-2, 263, 270, 280, 281 เป็นต้น เป็นผลให้ ศวฮ.พัฒนาฐานข้อมูลสารเคมีที่ปลอดสิ่งหะรอมทั้งทางตรงทางอ้อมเรียกว่า H-numbers เพื่อให้เลือกใช้สารเคมีได้อย่างถูกต้อง ไม่ก่อปัญหาเช่นที่เคยเกิด ความเสียหายทางเศรษฐกิจครั้งนั้นเหลือคณานับ ภาคอุตสาหกรรมจึงสมควรเรียนรู้เป็นประสบการณ์ไว้ประสบการณ์ที่สังคมมุสลิมเรียนรู้สมควรถ่ายทอดไปยังสังคมอื่น ปัจจุบัน ความนิยมผลิตภัณฑ์อาหารเพื่ออนาคต ดังเช่น ผลิตภัณฑ์ฐานพืช (Plant-based products) เพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อม รู้อยู่ว่าการเลี้ยงสัตว์สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เกิดการปลดปล่อยคาร์บอนสู่สิ่งแวดล้อมนำไปสู่ภาวะโลกร้อน ทั้งการบริโภคเนื้อสัตว์ยังเป็นประเด็นสิทธิสัตว์ ทว่าผู้บริโภคคุ้นชินต่อกลิ่นรสของเนื้อสัตว์มานาน เมื่อเกิดผลิตภัณฑ์ฐานพืชที่ปรุงแต่งให้มีกลิ่นรสใกล้เคียงสัตว์ ความนิยมจึงเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทว่าผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมยังขาดความตระหนักว่าสารเคมีจำนวนมากที่ใช้ยังคงเป็นสารเคมีฐานสัตว์ (Animal-based ingredients) ศวฮ.จึงนำเสนอเรื่องผู้บริโภคศึกษา (Consumers education) ด้านการรู้รอบเรื่องวิทยาศาสตร์ฮาลาล (Halal science literacy) ไม่ใช่เพียงประโยชน์ต่อผู้บริโภคมุสลิม ยังรวมถึงผู้บริโภคด้านความเชื่ออื่นๆและด้านผลิตภัณฑ์ฐานพืช และกลุ่มอื่น ประเทศไทยหากต้องการเป็นศูนย์กลางด้านการเกษตรจำเป็นต้องเรียนรู้เรื่องนี้ไว้ #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #plantbasedfood, #Hnumbers, #ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล, #ความรู้รอบเรื่องวิทยาศาสตร์ฮาลาล

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *