ปัญหาเนื้อหมูปลอมเป็นเนื้อวัวถึงวันนี้ยังคงอยู่ไม่หายไปไหน

เรื่องราวของมุสลิมถูกหลอกให้กินหมูที่เป็นข้อห้ามยังไม่ได้หนีหายไปไหน วานนี้เองผมไปที่บ้านพี่สาวย่านชุมชนมุสลิมถนนสาทรใต้ เธอเล่าให้ฟังว่าไม่กี่วันก่อนมีคนนำเนื้อวัวบรรทุกรถมาขายในชุมชนกิโลกรัมละ 150 บาท ความที่ผู้ขายเป็นคนคุ้นเคย ทั้งราคาก็ถูกคนทั้งซอยจึงพากันอุดหนุน พี่สาวซื้อมาต้มพบว่าสีละลายออกมาในน้ำมาก ทั้งมีกลิ่นแปลกๆจึงเททิ้งทั้งหมด ขณะที่หลายบ้านมุสลิมยังคงนำไปปรุงอาหารโดยไม่เอะใจ ทุกวันนี้ #เนื้อหมูปลอมเป็นเนื้อวัว ยังกระจายอยู่ในชุมชนทั้งมุสลิมและไม่ใช่ คล้ายไม่มีหน่วยงานใดลงมาจัดการเนื่องจากไม่มีเจ้าทุกข์ กลุ่มคุ้มครองผู้บริโภคเองก็แคระแกรน ทำได้เพียงระดมเตือนกัน ทว่าปรากฏว่าในยุคโซเชียลที่ผู้คนมีทางเลือกด้านการสื่อสารมากขึ้น คนจำนวนไม่น้อยยอมรับว่าไม่ได้สัมผัสข่าวทางโทรทัศน์หรือวิทยุกันเลย หนังสือพิมพ์ก็ไม่มี หลายคนติดละครกันจนไม่มีเวลาติดตามข่าว กลายเป็นอย่างนั้นศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังคงรับตัวอย่างเนื้อวัวจากผู้บริโภคมาตรวจดีเอ็นเอปรากฏว่าเนื้อที่เข้าใจว่าเป็นเนื้อวัวร้อยละ 76 คือเนื้อหมู เกือบทั้งหมดย้อมด้วยเลือดวัว ที่น่าตกใจคือผู้บริโภคที่ซื้อทางออนไลน์ตรวจดีเอ็นเอแล้วกลายเป็นเนื้อหมูทั้งหมด อีกความเสี่ยงหนึ่งมาจากเนื้อวัวที่บรรทุกรถขายกันถึงบ้าน ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าเนื้อวัวที่ขายทางออนไลน์หรือที่ขายกันตามรถบรรทุกจะเป็นเนื้อหมูแต่หมายถึงเนื้อที่ผู้บริโภคนำมาส่งตรวจดีเอ็นเอพบออกมาเป็นอย่างนั้นเมื่อยังไม่มีหน่วยงานใดออกมารับผิดชอบ ผู้บริโภคคงต้องดูแลตนเอง ผมเคยแนะนำแนวทาง 7 ประการในการแยกเนื้อวัวกับเนื้อหมู ดังนี้ (1) สี เนื้อวัวสีเข้มกว่า การหลอกลวงอาจทำโดยใช้เนื้อหมูแก่ หรือหมูที่เลี้ยงด้วยสารเร่งเนื้อแดงกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์อย่าง เคลนบูเทอรอล (Clenbuterol) ซิลปาเทอรอล (Zilpaterol) แรคโตพามีน (Ractopamine) หรือแปลงสีด้วยการย้อมด้วยเลือดวัวเพื่อกลบกลิ่น การสังเกตอาจทำโดยการแล่เนื้อเพื่อดูสีด้านใน หรือโดยการล้างน้ำปริมาณมาก สีที่ย้อมจะละลายออกมา(2) สังเกตจากใยของเนื้อ (Fiber) โดยเนื้อวัวจะเห็นใยเนื้อเป็นริ้วลึกตามแนวยาว ขณะที่เนื้อหมูจะมีริ้วน้อยเนื้อเรียบกว่า (3) ไขมัน โดยไขมันหมูจะชุ่มและแทรกกระจายเข้าไปในเนื้อ ขณะที่ไขมันวัวจะเห็นเส้นไขมันแยกชัดและกระด้าง ประการที่ 4 เนื้อสัมผัส (Texture) เนื้อหมูดึงเป็นแผ่นง่าย นุ่มมือกว่า ประการที่ 5 กลิ่น เนื้อหมูมีกลิ่นสาปของสารเคมี “แอนโดรสตีโนน” (Androstenone) คล้ายเหงื่อไคลและปัสสาวะ ทั้งมีกลิ่น “สกาโทล” (Skatole) ที่เหม็นระเหยออกมาเมื่อได้รับความร้อน ประการที่ 6 ราคา เนื้อหมูถูกกว่าแต่พักหลังดูยากเนื่องจากผู้ค้ามักปรับราคาขึ้นมาใกล้เคียงเนื้อวัว ประการที่ 7 ใบรับรองฮาลาลจากคณะกรรมการกลางอิสลามหรือกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ขอย้ำไปยังส่วนราชการอีกครั้งหากยังประสงค์จะให้ประเทศไทยเป็นแหล่งอาหารปลอดภัยหลังยุคโควิด-19 ตามที่ฝันไว้ จำเป็นต้องรีบเร่งแก้ไขปัญหานี้ ไม่แก้ไม่ได้เด็ดขาด อย่าปล่อยให้ผู้บริโภคเผชิญกรรมกันเองอย่างที่เป็นอยู่เลย #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *