ปลาทะเลกับปลาน้ำจืด

ก่อนคริสต์ทศวรรษที่ 1950 คนรู้จักกรดไขมันโอเมก้าสาม (Omega 3) น้อยมากยิ่งกรดโอเมก้าสามที่ชื่ออีพีเอ (EPA) และดีเอชเอ (DHA) ยิ่งไม่รู้จัก จนกระทั่งมีรายงานจากเกาะกรีนแลนด์ว่าชาวเอสกิโมหรืออินูอิต (Inuit) ที่อาศัยอยู่ที่นั่นบริโภคปลาทะเลและเนื้อสัตว์ที่กินปลาทะเลที่มีกรดไขมันโอเมก้าสามสูงทำให้ไม่เป็นโรคหัวใจ นับแต่นั้นผู้คนก็เริ่มคลั่งใคล้ปลาทะเลกันเป็นบ้าเป็นหลัง ส่งผลให้ความสำคัญของปลาทะเลมีเหนือปลาน้ำจืด โดยเชื่อกันว่าปลาทะเลมีคุณภาพดีกว่าปลาน้ำจืดเนื่องจากมีปริมาณกรดไขมันโอเมก้าสามสูงกว่า อันที่จริงปลาน้ำจืดบางชนิดอย่าง ปลาช่อน ปลาบู่ ปลานวลจันทร์ ยังพอมีกรดไขมันโอเมก้าสามอยู่บ้าง ทว่าประโยชน์ของปลานับเพียงการมีกรดไขมันโอเมก้าสามอย่างเดียวคงไม่ได้ คุณค่าของปลาอยู่ที่การมีโปรตีนเป็นหลัก โดยเป็นโปรตีนชนิดย่อยง่ายให้ประโยชน์กับร่างกายสารพัด เป็นสารอาหารที่สร้างกล้ามเนื้อ สร้างเอนไซม์ สร้างสารที่ช่วยทำงานในร่างกายชนิดต่างๆมากมาย คุณค่าของปลาน้ำจืดทางด้านโปรตีนจึงไม่ด้อยกว่าปลาทะเลเลย เพียงแต่ปลาน้ำจืดมีไขมันโอเมก้าสามต่ำกว่าปลาทะเลเพียงเท่านั้นจุดอ่อนของปลาน้ำจืดอาจยังมีอยู่นั่นคือพยาธิ์ที่ติดมาด้วย ทำให้การบริโภคปลาน้ำจืดแบบดิบๆไม่เป็นที่นิยม ทั้งปัญหารสชาติและปริมาณพยาธิ์ที่อาจปนเปื้อนมา หากบริโภคในรูปของปลาสุก ปลาน้ำจืดไม่ได้มีคุณภาพทางด้านโปรตีนต่ำกว่าปลาทะเลเลย กรณีปลาสุก ปลาทะเลเหนือกว่าปลาน้ำจืดตรงที่มีปริมาณกรดไขมันโอเมก้าสามทั้งอีพีเอและดีเอชเอสูงกว่า อย่างไรก็ตาม อะไรที่เข้าใจว่าปลอดภัยจำเป็นต้องระวังให้มาก เนื่องจากการบริโภคเนื้อปลาทะเลดิบ อย่างเช่นที่นิยมทำกันกับอาหารญี่ปุ่นไม่ว่าจะเป็นในรูปปลาดิบล้วนๆอย่างซาชิมิ หรือปลาดิบที่บริโภคร่วมกับข้าวญี่ปุ่นอย่างซูชิ ปัญหาของพยาธิ์ในเนื้อปลาทะเลใช่จะไม่มี จึงต้องระวังกันบ้างปลาทะเลมีพยาธิ์ได้เช่นเดียวกับปลาน้ำจืด โอกาสของการกินปลาดิบมันแล้วได้พยาธิ์รวมถึงเชื้อโรคเป็นของแถมจึงเกิดขึ้นได้ เพียงแต่พยาธิ์ชนิดร้ายแรงที่กลัวกันพบในปลาทะเลได้น้อยกว่าปลาน้ำจืด ทว่าการบริโภคปลาน้ำจืดนิยมทำในรูปของปลาสุกจากความร้อนจึงช่วยแก้ปัญหาพยาธิ์ได้จนเกือบหมด ขณะที่ปลาทะเลอย่างอาหารญี่ปุ่นยังนิยมบริโภคแบบดิบจำเป็นต้องระวังเรื่องพยาธิ์กันให้มาก ในส่วนการบริโภคปลาทะเลในรูปของปลาสุก แนะนำให้ปรุงสุกด้วยการนึ่งดีกว่าการทอดด้วยน้ำมัน เนื่องจากการนึ่งไม่มีการเติมกรดไขมันโอเมก้าหกจากน้ำมันพืชลงไป การเติมกรดไขมันโอเมก้าหกเป็นผลให้ประโยชน์ของกรดไขมันโอเมก้าสามจากปลาทะเลลดลงเนื่องจากประโยชน์ของกรดไขมันกลุ่มนี้ในร่างกายจำเป็นต้องพิจารณาในลักษณะสัดส่วนระหว่างกรดไขมันโอเมก้าสามกับโอเมก้าหกในอาหาร นึ่งหรือต้มปลาทะเลย่อมดีกว่าการทอดด้วยน้ำมันพืชที่มักมีกรดไขมันโอเมก้าหกปริมาณสูง #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #กรดไขมันโอเมก้าสาม, #ปลาทะเลปลาน้ำจืด

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *