ประเด็นฮาลาลของวัคซีนโก-วิดที่ควรจบแต่ยังไม่จบ

มีคำถามด่วนมาถึงศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าสภานักวิชาการศาสนาอิสลามแห่งอินโดนีเซีย หรือสภาอุละมาอฺ (علماء‎) (MUI) มีความเห็นว่าวัคซีนแอสทราเซเนกา (AstraZeneca) มีปัญหาด้านฮาลาลเนื่องจากมีการใช้โปรตีนทริปซินจากสุกร (Porcine trypsin) ในกระบวนการผลิต อันที่จริงข่าวนี้เป็นข่าวเก่าทว่าทาง MUI ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ในเชิงศาสนา ทางศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลไม่เกี่ยวข้องจึงขอเพียงนำความเห็นจากนักวิชาการอิสลามที่ระบุว่า อิสลามมีข้ออนุโลมโดยขึ้นกับเงื่อนไข โดยองค์กรศาสนาอิสลามแห่งสิงคโปร์ (MUIS) แจงว่าหากมีการใช้องค์ประกอบของสัตว์จริงในการผลิต กระบวนการล้างทำความสะอาดเพื่อขจัดทริปซินโดยใช้น้ำปริมาณมหาศาลย่อมทำให้สิ่งต้องห้ามหรือหะรอมถูกเจือจางจนหมดความเป็นนญิสหรือความสกปรกตามหลักการ “อิซติฮฺลัก” (استهلك) คล้ายคลึงกับการหล่นของอุจจาระซึ่งเป็นนญิสลงในแม่น้ำซึ่งมีน้ำปริมาณมากย่อมไม่ทำให้น้ำไม่สะอาด ขณะที่องค์กรศาสนาอิสลามออสเตรเลียระบุว่าในกระบวนการผลิตวัคซีนมีการเปลี่ยนโครงสร้างโปรตีนทริปซินซึ่งถูกทำให้เป็นเกลือ EDTA สภาวะนี้สิ่งหะรอมถูกแปรสภาพอย่างสิ้นเชิงตามหลักการ “อิซติฮาละฮฺ” (استحالة) คล้ายคลึงการเปลี่ยนสภาพของแอลกอฮอล์ไปเป็นน้ำส้มสายชู จึงไม่เป็นปัญหา ขณะเดียวกัน เมื่อมีการยืนยันชัดเจนว่าโรคโควิด-19 ก่ออันตรายต่อสุขภาพถึงชีวิต การใช้แนวทางอื่นในการรักษายังขาดข้อมูลทางวิชาการยืนยันว่าได้ผล การฉีดวัคซีนมีหลักฐานทางวิชาการว่าสามารถปกป้องสุขภาพจากโรคได้ กรณีเช่นนี้การฉีดวัคซีนจึงเป็นไปเพื่อรักษาชีวิตซึ่งนับเป็น “ฎารูเราะฮฺ” (ضرورة) จำเป็นอย่างยิ่งยวด ประเด็นนี้ องค์กรศาสนาอิสลามจำนวนมากรวมถึงสำนักจุฬาราชมนตรีได้ตัดสิน (ฟัตวา) ว่าวัคซีนเป็นสิ่งอนุมัติ แต่ถึงกระนั้นยังมีมุสลิมจำนวนหนึ่งขาดความมั่นใจในทางวิทยาศาสตร์ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลหารือกับผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ของรัฐบาล ได้ข้อสรุปว่าในกระบวนการผลิตวัคซีนในปัจจุบัน การเตรียมโปรตีนทริปซินทำได้โดยกระบวนการต่างๆถึง 6 วิธี เช่น การใช้ปลาทะเล การใช้เปลือกสัตว์ทะเล การใช้ข้าวโพดหรือพืชจีเอ็ม การใช้โปรตีนจากวัวหรือสัตว์ฮาลาลอื่น การผลิตโปรตีนด้วยเทคนิครีคอมบิแนนท์ ขณะที่ทางผู้ผลิตเห็นว่าการใช้สุกรซึ่งเป็นเทคนิคเก่าเป็นปัญหา ขาดการยอมรับของตลาดใหญ่นั่นคือมุสลิม ฮินดู ยิว คริสต์และพุทธบางนิกาย มังสะวิรัติ บริษัทจึงหันไปใช้วิธีอื่นในเรื่องนี้ The Medicines and Healthcare Products Regulatory Agency (MHRA) และ The British Islamic Medical Association (BIMA) ร่วมกันยืนยันว่าวัคซีน Pfizer BioNTech, Moderna และ Oxford AstraZeneca ไม่มีการใช้องค์ประกอบของสัตว์ในการผลิต เป็นผลให้สภามัสยิด (Council of Masjids) และสภาอิหม่ามแห่งสหราชอาณาจักร ตัดสินว่าวัคซีนดังกล่าวไม่มีประเด็นหะรอม แนะนำให้มุสลิมทั่วไปฉีด #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #วัคซีนฮาลาล

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *