นบีมุฮัมมัด (ศอลฯ) พลังละมุนแห่งอิสลาม ตอนที่ 27 มองสิทธิสตรีมุสลิมผ่านพระนางอาอีซะฮฺ ตอนที่ 1

ระหว่างวันที่ 17-18 พฤศจิกายน 2565 (ค.ศ.2022) ผมได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่องค์กรมุฮัมมะดียะฮฺ-อาอีซียะฮฺ ครั้งที่ 48 (Muktamar Muhammadiyah-Aisyiyah KE48) ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองโซโลหรือสุราการ์ตา อินโดนีเซีย สององค์กรนี้มีสมาชิกรวมกันกว่า 50 ล้านคน มุฮัมมะดียะฮฺมีความหมายว่าดำเนินตามรอยนบีมุฮัมมัด จัดตั้งโดยกิไย้ อะฮฺมัด ดะห์ลัน ใน ค.ศ.1912 อาอีซียะฮฺหมายถึงดำเนินตามรอยอาอีซะฮฺ ภริยาของท่านนบี จัดตั้งโดยวาลีดะฮฺ ดะห์ลัน หรือไง้อะฮฺมัด ดะห์ลัน ภริยาของกิไย้ อะฮฺมัด ดะห์ลัน ใน ค.ศ.1917 บรรยากาศทางศาสนาและวัฒนธรรมของอินโดนีเซียช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ภายใต้การปกครองของดัทช์หรือเนเธอร์แลนด์คือสตรีในอิสลามยุคนั้นไม่มีสถานะเทียบเท่าบุรุษ ไม่ว่าจะเป็นสังคมอิสลามในตะวันออกกลาง เอเชียใต้ หรือเอเชียอาคเนย์ แนวทางที่อิสลามกำหนดให้สตรีกับบุรุษมีสถานะเท่าเทียมกัน ทว่าหลังการจากไปของท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลฯ) ใน ค.ศ.633 สังคมมุสลิมก็แปรเปลี่ยนไปในแนวทางเก่าที่บุรุษเป็นใหญ่ การจัดตั้งองค์กรมุฮัมมะดียะฮฺขึ้นใน ค.ศ.1912 นางวาลีดะฮฺหรือที่เรียกกันทั่วไปว่าคุณย่าหรือไง้อะฮฺมัด ดะห์ลัน ภริยาอะฮฺมัด ดะห์ลัน มีบทบาทอย่างสำคัญ เมื่อมุฮัมมะดียะฮฺเข้มแข็งขึ้น นางวาลีดะฮฺเห็นว่าสตรีควรแสดงบทบาทในสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการยกระดับการศึกษา ดูแลเศรษฐกิจของครอบครัวและการเลี้ยงดูบุตรธิดา ใน ค.ศ.1917 องค์กรอาอีซียะฮฺจึงได้รับการสถาปนาขึ้นเพื่อนำสตรีทำงานเคียงคู่กับบุรุษในองค์กรมุฮัมมะดียะฮฺ ประวัติศาสตร์มักมีเรื่องเล่าอยู่เสมอ เรื่องที่เล่าขานในครอบครัวดะห์ลัน ลูกหลานของกิไย้ อะฮฺมัด และไง้วาลีดะฮฺ มีว่าเมื่อได้ข้อสรุปว่าควรจัดตั้งองค์กรสตรีของมุฮัมมะดียะฮฺขึ้น องค์กรที่ว่านี้ควรใช้ชื่อว่าอะไร ความเห็นแตกเป็นสองกลุ่มใหญ่ บ้างว่าควรมีชื่อตามพระนางฆอดียะฮฺ (ค.ศ.556-619) ภริยาคนแรกของท่านนบี บ้างว่าควรมีชื่อตามพระนางอาอีซะฮฺ (ค.ศ.604-678) ภริยาที่ร่วมทุกข์สุขกับท่านนบีรวมทั้งรับใช้อิสลามตลอดช่วงชีวิต เหตุผลคือพระนางอาอีซะฮฺแสดงบทบาทของผู้นำทั้งในสนามรบและในทางศาสนา เป็นทั้งนักวิชาการ ผู้พิพากษา ฯลฯ ทางกลุ่มจึงมีมติเลือกชื่ออาอีซะฮฺ เป็นผลให้องค์กรสตรีแห่งแรกมีชื่อว่าอาอีซียะฮฺ (Aisyiyah)ภาวะกลัวอิสลาม (Islamophobia) ในโลกมีมาเป็นระยะนับตั้งแต่เริ่มสงครามครูเสดตอนปลายศตวรรษที่ 11 ถึงช่วงต้นศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังเหตุการณ์ 911 ภาวะกลัวอิสลามยังคงดำเนินอยู่ ทั้งรุนแรงขึ้น หนึ่งในเหตุการณ์ที่นำมาใช้โจมตีอิสลามทางสื่อออนไลน์และสื่อปกติคือเรื่องราวของพระนางอาอีซะฮฺ ที่พบมากคือการสร้างข่าวว่าพระนางอายุเพียงหกขวบเมื่อแต่งงานกับท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลฯ) ทำนองว่าท่านนบีแต่งงานกับเด็ก เป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #มุฮัมมัดพลังละมุนแห่งอิสลาม, #aisyiyah

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *