ทริปซินกับความสับสนในเรื่องวัคซีน

ขณะนี้เกิดกระแสขึ้นในหมู่มุสลิมอาเซียนว่าวัคซีนแอสทราเซเนกาไม่ฮาลาล จากรายงานข่าวที่ว่าองค์กรศาสนาอิสลามหลักของประเทศอินโดนีเซียคือ MUI ระบุว่าวัคซีนดังกล่าวใช้ทริปซินจากสุกร ทว่าวัคซีนเป็นกรณีจำเป็นอย่างยิ่ง (ฎารูเราะฮฺ) MUI จึงตัดสิน (ฟัตวา) ว่าในการระบาดของโกวิท อนุโลมให้ใช้วัคซีนแอสทราเซเนกาได้จนกว่าจะมีวัคซีนอื่นที่ฮาลาลมาให้ใช้ ข่าวดังกล่าวทำให้มุสลิมจำนวนไม่น้อยปฏิเสธวัคซีนแอสทราเซเนกา เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ในฐานะที่ทำงานด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์มานาน มีความเข้าใจเรื่องการพัฒนาวัคซีน จึงขอให้ข้อมูลไว้ ณ ที่นี้ในหลักศาสนบัญญัติอิสลาม สุกรจัดเป็น “นญิส” หรือสิ่งสกปรกจึงนับเป็น “หะรอม” (ต้องห้าม) ทว่าอิสลามเปิดข้ออนุโลมไว้ ได้แก่ (1) หลัก “อิสติฮฺลัก” (استهلك Istihlak) หากนญิสถูกเจือจางด้วยสิ่งสะอาดที่ฮาลาลปริมาณมากโดยสิ่งที่สะอาดไม่เปลี่ยนสี กลิ่น รส ตัวอย่าง เช่น มูลสัตว์ซึ่งเป็นนญิสตกลงไปในแม่น้ำ ถือว่าน้ำในแม่น้ำยังคงสภาพฮาลาลอยู่ (2) หลัก “อิสติฮาละฮฺ” (استحالة Istihalah) การแปรสภาพอย่างสิ้นเชิงของนญิสในเชิงโครงสร้างหรือรูปอื่นกระทั่งไม่หลงเหลือคุณสมบัติเดิม ตัวอย่างเช่น แอลกอฮอล (Alcohol) ซึ่งหะรอมเปลี่ยนโครงสร้างจากกระบวนการหมักด้วยแบคทีเรียเป็นกรดน้ำส้ม (Acetic acid) โดยกรดน้ำส้มไม่ทำให้มึนเมา น้ำส้มจึงฮาลาลแม้มาจากแอลกอฮอล (3) หลัก “ฎารูเราะฮฺ” (ضرورة Dharurah) ความจำเป็นอย่างยิ่งยวด หากไม่ใช้สิ่งหะรอมนั้นอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต ศรัทธา เกียรติยศ หรือสิ่งสำคัญอื่นๆ จึงอนุโลมให้ใช้ได้ การใช้วัคซีนคือความจำเป็นอย่างยิ่งด้านการป้องกันโรคถือเป็น “ฎารูเราะฮฺ” ซึ่งองค์กรศาสนาอิสลามทั้งในยูเออี ซาอุดีอาระเบีย อิยิปต์ สิงคโปร์ มาเลเซีย ออสเตรเลีย ยุโรป หรือแม้กระทั่งสำนักจุฬาราชมนตรี ตัดสินไว้แล้ว ขณะเดียวกัน หากมีการใช้เอนไซม์ทริปซินที่สกัดจากสุกรจริง กระบวนการที่มีการชำระล้างนับหมื่นเท่าในขั้นตอนการเตรียม ถือเป็น “อิสติฮฺลัก” หรือไม่ การเปลี่ยนสภาพของทริปซินเป็นเกลือ EDTA หรือองค์ประกอบโมเลกุลที่ใหญ่ขึ้นถือเป็น “อิสติฮาละฮฺ” หรือไม่ ทาง MUI ควรพิจารณาประการสุดท้าย ทางแอสทราเซเนกายืนยันกับผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของประเทศไทย รวมถึงฝ่ายศาสนาอิสลามของหลายประเทศว่าไม่มีการใช้องค์ประกอบจากสัตว์ในการผลิต การเตรียมทริปซินจากตับอ่อนของสุกรนับเป็นเทคโนโลยีเก่า ขณะที่เทคโนโลยีใหม่สามารถเตรียมทริปซินได้จากเทคนิครีคอมบิแนนท์ (recombinant) จากหลอดทดลองหรือจากการหมักของแบคทีเรีย หรือเตรียมจากการเกษตรเช่นข้าวโพดจีเอ็มซึ่งมีต้นทุนการผลิตต่ำ หรือจากปลาหรือสัตว์ทะเลมีเปลือกหรือจากสัตว์บกฮาลาล อุตสาหกรรมยาเรียนรู้ถึงอุปสรรคของการใช้วัตถุดิบที่กระทบต่อตลาดมุสลิมที่มีขนาดใหญ่ถึงร้อยละ 26 ของตลาดโลก อุตสาหกรรมที่มีมูลค่านับหมื่นล้านเหรียญสหรัฐส่วนใหญ่จึงหันไปใช้เทคโนโลยีที่ไม่เป็นปัญหา ด้วยสถานการณ์ทางวิทยาศาสตร์ฮาลาลที่เปลี่ยนแปลงไปเช่นนี้ MUI จึงสมควรพิจารณาคำตัดสินใหม่อีกครั้ง เพื่อลดความกังวลของมุสลิม #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #ฮาลาลของวัคซีน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *