ถือศีลอดช่วงศึกสงครามตามแนวทางท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลฯ)

ศาสตราจารย์กาสิฟ ฮัมดิ โอกูร (Kasif Hamdi Okur) แห่งคณะอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัย Hitit ประเทศตุรเคีย เขียนไว้ว่าอิสลามทำศึกเพื่อปกป้องตนเองโดยจัดทำบันทึกค่อนข้างละเอียด ตัวอย่างเช่นการทำศึกระหว่างเดือนรอมฎอน ซึ่งในยุคสมัยท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลฯ) เกิดสงครามครั้งสำคัญในเดือนรอมฎอนสองครั้งคือช่วงศึกบ่อน้ำบะดัร ปีฮิจเราะฮฺที่ 2 (มีนาคม ค.ศ.624) และศึกพิชิตเมืองมักกะฮฺ ปีฮิจเราะฮฺที่ 8 (มกราคม ค.ศ.630) การถือศีลอดในช่วงนี้ปรากฏในบันทึกหนังสืออัลติรมิซี (714) และอัลบัยฮาฆีในหนังสืออัลกุบรอ (8520) ว่า “พวกเราได้ทำศึกร่วมกับท่านรอซูลุลลอฮฺช่วงเดือนรอมฎอนสองครั้ง นั่นคือในศึกบะดัรและในการพิชิตมักกะฮฺ ซึ่งทั้งสองช่วงนั้นเราละเว้นการถือศีลอด” ระหว่างสงครามหากเกิดในเดือนรอมฎอน มุสลิมในสนามรบได้รับการอนุโลมให้หยุดถือศีลอดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่เผชิญหน้ากับศัตรู ซึ่งบันทึกในหนังสือหะดิษศอฮิฮฺของอิหม่ามมุสลิม (2438) และสุนันอาบูดาอุด (2501) มีใจความว่า “พวกเราได้เดินทางไปกับท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลฯ) ยังเมืองมักกะฮฺ ช่วงเวลานั้นพวกเราถือศีลอด กระทั่งเมื่อหยุดพัก ณ สถานที่แห่งหนึ่ง ท่านนบีกล่าวว่าพวกเราเข้าใกล้ศัตรูมากแล้ว การหยุดถือศีลอดเป็นที่อนุโลมเพื่อทำให้มีพละกำลังมากขึ้น ทว่าพวกเราบางคนยังคงถือศีลอดขณะที่บางคนหยุดถือศีลอด กระทั่งเมื่อเดินทางต่อไป ท่านนบีกล่าวอีกครั้งว่าพวกเราจะเผชิญหน้าศัตรูในตอนเช้า การละศีลอดจะทำให้มีพละกำลัง ดังนั้นจงละศีลอดเสีย เนื่องจากเป็นจุดที่ตึงเครียด เหตุนี้เองพวกเราจึงหยุดถือศีลอด”ในการศึกที่มักกะฮฺกำลังพลของท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลฯ) มีมากถึง 10,000 คน ทางชนกุเรซในเมืองมักกะฮฺซึ่งนำโดยอบูซุฟยานเห็นว่าตนเองมีกำลังพลน้อยกว่ากองทัพมุสลิมมากจึงขอเจรจาสงบศึกโดยทางมักกะฮฺยอมโอนอำนาจให้แก่ท่านนบีโดยดุษฎีปราศจากการสูญเสียเลือดเนื้อ ซึ่งท่านนบีเอื้อเฟื้อกลับโดยเพียงเรียกร้องให้ทางมักกะฮฺวางอาวุธและทำลายรูปเคารพนอกรีตที่วางรายรอบวิหารกะอฺบะฮฺและบริเวณอื่นเท่านั้น ไม่มีผู้ใดต้องรับโทษ ภายหลังปฏิบัติตามแล้วชาวกุเรชได้เข้ารับอิสลามด้วยความเต็มใจข้อน่าสังเกตคือระหว่างสงคราม มุสลิมในกองทัพต่างเดินทางไกลซึ่งอิสลามอนุโลมการถือศีลอดอยู่แล้ว ทว่ามุสลิมส่วนใหญ่ยังคงถือศีลอดอยู่โดยหยุดถือศีลอดในวันทำศึกเท่านั้นเนื่องจากท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลฯ) แนะนำไว้ ซึ่งทุกคนต่างปฏิบัติตาม อัลกุรอาน ซูเราะฮฺ อัลฮัซรฺ 59: 7 มีโองการว่า “และอันใดที่ท่านรอซูลได้นำมายังพวกเจ้าก็จงยึดเอาไว้ และอันใดที่ที่ท่านได้ห้ามพวกเจ้าก็จงละเว้นเสีย” #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #ถือศีลอดตามแนวทางนบีมุฮัมมัด, #ถือศีลอดระหว่างสงคราม

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *