ดุลผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมองที่สร้างจากกลูโคสก่อปัญหาโรคอ้วน

สารอาหารให้พลังงาน เช่น คาร์โบไฮเดรต เปลี่ยนเป็นไขมันสะสมในร่างกาย คาร์โบไฮเดรตตัวร้ายที่สุดคือฟรุคโตส หากต้องการตัดวงจรการเปลี่ยนน้ำตาลให้เป็นไขมัน จำต้องศึกษาลึกลงไปในรายละเอียดว่ามีกลไกใดที่ทำให้ฟรุคโตสสร้างปัญหา นักวิทยาศาสตร์พบว่าฟรุคโตสก่อกวนการทำงานของสมอง ทำให้จุดอิ่ม (Satiety receptor) เกิดภาวะดื้อต่อฮอร์โมนอิ่มหรือเล็พติน (Leptin) สมองไม่ส่งคำสั่งไปยังร่างกายให้หยุดกิน ทั้งฟรุคโตสและกลูโคสที่กินเกินความต้องการเพราะร่างกายไม่หยุดกิน จึงเปลี่ยนไปเป็นไขมัน สะสมกระทั่งเกิดโรคอ้วนกลไกก่อโรคอ้วนไม่ได้มีกลไกเดียว ยังมีกลไกอื่นที่ต้องศึกษาและทำความเข้าใจเพื่อวันหนึ่งจะได้หาทางรักษาโรคอ้วนที่ในวันนี้กลายเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลกไปแล้ว ดร.แคร์รี เฟอร์รารีโอ (Carrie Ferrario) แห่งคณะแพทย์ มหาวิทยาลัยมิชิแกน สหรัฐอเมริกา และทีมงานศึกษาสมองของหนูทดลองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสร้างแรงจูงใจที่เรียกว่า “นิวเคลียส แอคคัมเบน” (Nucleus Accumbens) เป็นส่วนที่พัฒนาขึ้นเพื่อช่วยให้รอดชีวิต โดยเกี่ยวข้องกับการหาอาหารและการมีเพศสัมพันธ์ซึ่งเป็นกลไกสำคัญทำให้มนุษย์รักษาเผ่าพันธุ์ไว้ได้ นำผลงานตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Neurochemistry เดือนกุมภาพันธ์ 2022 ในอดีตกาลนานมาแล้ว อาหารหาได้ยาก ต่างจากปัจจุบัน อาหารยุคใหม่ผ่านการแปรรูปมากเกินไป อีกทั้งยังปรุงแต่งให้ตอบสนองต่อรสนิยมทำให้มนุษย์บริโภคมากขึ้น ทีมวิจัยศึกษาในหนูทดลองสองกลุ่มโดยให้หนูได้รับน้ำตาลกลูโคสที่ติดฉลากสารรังสีเพื่อติดตามกลไกของน้ำตาล ตามปกติน้ำตาลเป็นแหล่งพลังงานของสมอง น้ำตาลนอกจากย่อยสลายสร้างพลังงานจ่ายแก่สมองแล้ว บางส่วนยังเปลี่ยนไปเป็นโมเลกุลใหม่อย่างกลูตามีน กลูตาเมต กาบา (GABA) ซึ่งเข้าไปกระตุ้นการทำงานของเซลล์ประสาทในสมองและระบบประสาทสิ่งที่นักวิจัยพบคือกลูโคสใช้เวลานานในการเข้าสู่นิวเคลียสเซลล์ประสาทของสัตว์ที่เป็นโรคอ้วนเมื่อเทียบกับหนูปกติ เกิดความบกพร่องในกระบวนการรีไซเคิลสารสื่อประสาท วงจรที่ผิดปกติมีผลต่อการปิดหรือเปิดเซลล์ประสาท ผลการวิจัยบ่งชี้ว่าในส่วนของไซแนปส์ (synapse) หรือจุดเชื่อมของเซลล์ประสาทมีกลูตาเมตสะสมอยู่มากเกินไป นักวิทยาศาสตร์รู้ว่าสมดุลระหว่างกลูตาเมตและกาบาสำคัญอย่างยิ่งต่อการทำงานของสมอง และมีอิทธิพลต่อการทำงานของเซลล์ประสาทในนิวเคลียส แอคคัมเบน ดังนั้นความสมดุลและกลไกการทำงานของสมองจึงแตกต่างกันระหว่างหนูที่เป็นโรคอ้วนและหนูปกติ เมื่อสมองทำงานผิดปกติ โรคอ้วนจึงเป็นผลตามมา วงการแพทย์พัฒนายายับยั้งกลไกที่ก่อปัญหาได้เมื่อไหร่ การรักษาโรคอ้วนย่อมทำได้ไม่ยาก เวลานี้ยังไม่มียารักษา แนะนำกันง่ายๆ คือยับยั้งชั่งใจอย่ากินมาก ทำให้ได้อย่างนั้นไปพลางก่อนก็แล้วกัน #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #ดุลสารสื่อประสาทในสมองผิดปกติก่อโรคอ้วน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *