ชนชาวเติร์กกับพลังและโมเมนตัมที่ขับเคลื่อนประวัติศาสตร์โลก ตอนที่ 64

ทวีปยุโรปนับย้อนไปในประวัติศาสตร์ ยุโรปสร้างจักรวรรดิขึ้นมากมายที่ส่งผลกระทบต่อโลกจนกระทั่งปัจจุบัน ตุรกีคือหนึ่งในชาติยุโรปที่เคยสร้างจักรวรรดิอุสมานียะฮฺที่ยิ่งใหญ่ในทวีปยุโรปเคียงข้างจักรวรรดิโรมัน กรีก อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย ออสเตรีย-ฮังการี สวีเดน สเปน ปอร์ตุเกส และอีกหลายจักรวรรดิมาแล้ว ทว่าไม่นานมานี้มีรายงานจากบริติซเคาน์ซิลของอังกฤษสอบถามความเห็นชาวยุโรปจำนวนมากเมื่อคิดย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ว่าคิดถึงจักรวรรดิยุโรปจักรวรรดิใดในอดีต ปรากฏว่ามีชาวยุโรปค่อนข้างน้อยที่เข้าใจว่าอุสมานียะฮฺคือหนึ่งในจักรวรรดิยุโรป ชาวยุโรปจำนวนไม่น้อยเข้าใจว่าตุรกีคือชาติเอเชียไม่ใช่ยุโรปจากการสำรวจความคิดเห็นของชาวเติร์กในประเทศตุรกี ส่วนใหญ่เชื่อว่าตนคือชนชาวคอเคเซียนซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับชาวยุโรป ศึกษาลึกลงไปในประวัติศาสตร์ข้อเท็จจริงเป็นเช่นนั้น ชนเติร์ก คอเคเซียน ยุโรป เปอร์เซียล้วนมีพื้นเพมาจากแหล่งกำเนิดเดียวกันคือเอเชียกลาง เป็นคนละกลุ่มกับเซเมติคหรืออาหรับ ชนเติร์กในตุรกีภูมิใจในชาติกำเนิดของตน เมื่อสอบถามความเห็นถึงอดีต ชนเติร์กจำนวนไม่น้อยรู้สึกขมขื่นกับสงครามโลกครั้งที่หนึ่งที่ผลของมันเปลี่ยนแปลงจักรวรรดิอุสมานียะฮฺมากมายจนกระทั่งถึงปัจจุบันและแน่นอนมุสตาฟา เคมาล อะตาเติร์กหรือบิดาแห่งตุรกีคือผู้กอบกู้ศักดิ์ศรีของชนเติร์กไว้หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งตุรกีแม้จะประสบความสูญเสียอย่างหนักในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งทว่าได้สร้างความสูญเสียในระดับเดียวกันหรือมากกว่าให้กับมหาอำนาจอย่างอังกฤษโดยเฉพาะอย่างยิ่งการรบในกัลลิโพลีและกุตอัลอะมารา ซึ่งชัยชนะของกองทัพเติร์กต่อกองทัพอังกฤษและเครือจักรภพในศึกสองครั้งนั้นที่ชาวเติร์กในตุรกีเชื่อว่ามีผลทำให้อังกฤษและชาติอื่นออกอาการขยาดที่จะตอแยกับตุรกีเมื่อสงครามโลกครั้งที่หนึ่งจบลงใน ค.ศ.1918 ทว่าหลังจากนั้นทหารเติร์กยังต้องทำสงครามกู้แผ่นดินอีกนานถึงสี่ปีช่วง ค.ศ.1919-1923 อุสมานียะฮฺสูญเสียดินแดนในอัฟริกาเหนือและตะวันออกกลางไปทั้งหมด สาธารณรัฐตุรกีถือกำเนิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งจากการล่มสลายของจักรวรรดิอุสมานียะฮฺ เป็นผลให้ชนชาวเติร์กจดจำความรู้สึกขมขื่นกับการสูญเสียดินแดนในอัฟริกาเหนือ ตะวันออกกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอาระเบียได้เป็นอย่างดี ชาวเติร์กรู้ว่าอังกฤษอยู่เบื้องหลังความสูญเสียดังกล่าว โดยเป็นผลจากสงครามลับที่เรียกว่า “สงครามพันทาง” (Hybrid warfare) ที่จักรวรรดิอังกฤษใช้ยุทธการลับปลุกปั่นชนอาหรับให้ก่อการประท้วงต่อต้านจักรวรรดิอุสมานียะฮฺทั้งยังชักชวนผู้นำชนอาหรับเข้าร่วมข้อตกลง Sykes-Picot อย่างลับๆใน ค.ศ. 1916 ข้อตกลงนี้เป็นผลประโยชน์ร่วมระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศสในการควบคุมดินแดนที่เป็นของจักรวรรดิอุสมานียะฮฺ อันเป็นเรื่องที่ชาวตุรกียังจดจำได้ไม่เคยลืม จากรายงานของบริติซเคาน์ซิลพบว่าชาวตุรกีปัจจุบันมีความรู้สึกในเชิงลบต่ออังกฤษมากกว่าต่อฝรั่งเศสในอัตราส่วน 34 ต่อ 6 ส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของอังกฤษในตุรกีนับจากอดีตจนกระทั่งปัจจุบัน #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *