ชนชาวเติร์กกับพลังและโมเมนตัมที่ขับเคลื่อนประวัติศาสตร์โลก ตอนที่ 15

แผ่นดินจีนในศตวรรษที่ 3 เกิดยุคสามก๊กแย่งชิงแผ่นดินกันระหว่าง วุยก๊ก จ๊กก๊ก และง่อก๊ก สุดท้ายกลายเป็นสุมาอี้ขุนศึกของวุยก๊กพร้อมลูกหลานคว้าชิ้นปลามันไปกิน ในเอเชียกลางช่วงศตวรรษที่ 9-11 เกิดสามก๊กฉบับเติร์กขึ้นเช่นกันระหว่างรัฐเติร์ก-เปอร์เซีย “ซามานิด” (ค.ศ.819-999) กับรัฐข่านเติร์ก “ฆาราฆานิด” (ค.ศ.840-1212) และรัฐเติร์ก “ฆาสนาวิด” (ค.ศ.977-1186) สามรัฐทำสงครามสองฝ่ายบ้างสามฝ่ายบ้างแย่งแผ่นดินกัน สุดท้ายกลายเป็นตระกูล “เซลจุก” (Seljuk) ที่ทำงานในราชสำนักเก่ารวมถึงซามานิดและฆาสนาวิดก่อนที่หลานสองคนจะยึดส่วนใหญ่ของฆาสนาวิดสร้างจักรวรรดิเซลจุก (Seljuk Empire ค.ศ.1037-1194) ขึ้นโดยครอบครองดินแดนของสามรัฐได้เป็นส่วนใหญ่ เป็นตาอยู่ในลักษณะเดียวกับสุมาอี้แท้ๆรัฐเติร์กในเอเชียกลางเกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนอิสลามเข้าไปเผยแผ่ตอนช่วงปลายศตวรรษที่ 8 ภายหลังจึงมีรัฐเติร์กมุสลิมเกิดขึ้น เซลจุกเป็นจักรวรรดิของชาวเติร์กที่ประสบความสำเร็จในการสร้างรัฐมากที่สุดก่อนสืบทอดด้วยจักรวรรดิอุสมานียะฮฺหรือออตโตมันที่ประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่กว่ากระทั่งส่งผลต่อการขับเคลื่อนประวัติศาสตร์ของโลก ความสำเร็จทั้งหมดนี้ต้องนับเป็นอานิสงค์ของวิทยาการที่ถ่ายทอดมาสองทางคืออิสลามจากอาหรับบวกกับอารยธรรมเก่าจากจักรวรรดิเปอร์เซียเดิม ผู้ที่รับวิทยาการเหล่านี้มาอย่างเป็นชิ้นเป็นอันคือครอบครัวเซลจุกร่วมกับเติร์กจากเผ่าออกุซ (Oghuz Turk) ที่เข้าไปทำงานรับใช้ในหลายราชสำนักความสำเร็จของเซลจุกชักนำให้ชนชาวเติร์กจำนวนมากทั้งกลุ่มเร่ร่อนเลี้ยงปศุสัตว์และทำการค้าจากเอเชียกลางหลั่งไหลลงไปในแผ่นดินเปอร์เซีย ต่อมาใน ค.ศ.1048 ทัพเซลจุกประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่เมื่อพิชิตชัยในศึกที่กาเปทรอน (Battle of Kapetron) ต่อกองทัพผสมไบแซนไทน์-จอร์เจียน หลังจากนั้นใน ค.ศ.1055 เซลจุกจึงเข้ายึดแบกแดดที่เวลานั้นราชวงศ์บูยิด (Buyid) เข้ามาครอบครองไว้ตั้งแต่ ค.ศ.945 โดยบริหารแบบชีอะฮฺ ลดอำนาจคอลีฟะฮฺให้ทำหน้าที่ทางศาลเท่านั้น เซลจุกเพิ่มอำนาจราชวงศ์อับบาสิยะฮฺให้เป็นคอลีฟะฮฺที่ดูแลกิจการทางศาสนาอิสลามทั้งหมด ส่วนการบริหารจัดการบ้านเมืองเป็นอำนาจของเซลจุก หลังการล้มล้างราชวงศ์บูยิดที่ถืออิสลามนิกายชีอะฮฺยุคต้น เซลจุกฟื้นฟูการบริหารจัดการแบบสุนหนี่ขึ้นอีกครั้ง ปรปักษ์ของอาณาจักรสายสุนหนี่นอกเหนือจากราชวงศ์บูยิดแล้วยังมีราชวงศ์ฟาติมิด (Fatimid dynasty ค.ศ.909-1171) ที่ปกครองอียิปต์นับเป็นชีอะฮฺยุคต้นเช่นกัน ฟาติมิดไม่เพียงปกครองอียิปต์ยังตั้งคอลีฟะฮฺที่เป็นผู้ปกครองโลกอิสลามขึ้นมาแข่งบารมีกับแบกแดดด้วย เซลจุกเองใฝ่ฝันจะสร้างแผ่นดินให้กับชนชาวเติร์กโดยเฉพาะอย่างยิ่งเผ่าอูกุซ อิยิปต์ที่มีอารยธรรมรุ่งเรืองมานาน แผ่นดินอุดมสมบูรณ์มากกว่าเอเชียกลางจึงเป็นเป้าหมาย ทว่าการตัดสินใจของจักรวรรดิไบเซนไทน์ที่ปิดกั้นชนเผ่าเติร์กที่ติดตามเซลจุกลงมาจากเอเชียกลางโดยทะยอยเข้าไปตั้งรกรากในคาบสมุทรอะนาโตเลีย ก่อให้เกิดการปะทะกับชนชาวคริสต์ขึ้น นั่นเองทำให้เซลจุกยกกองทัพเข้าไปปกป้องเติร์กในอะนาโตเลีย นำไปสู่ศึกที่มานซิเกิร์ต (Battle of Manzikert) ใน ค.ศ.1071 ที่ภายหลังเปลี่ยนอะนาโตเลียให้กลายเป็นแผ่นดินของชาวเติร์กไปในที่สุด #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *