ชนชาวเติร์กกับพลังและโมเมนตัมที่ขับเคลื่อนประวัติศาสตร์โลก ตอนที่ 14

กลางศตวรรษที่ 8 กองทัพมุสลิมภายใต้ราชวงศ์อับบาสิยะฮ์รุกเข้าไปในเอเชียกลางร่วมกับธิเบตขับไล่กองทัพจีนราชวงศ์ถังออกไปจนหมดสิ้นในการรบที่ลุ่มแม่น้ำทาลาสใน ค.ศ.751 ความสำเร็จของอับบาสิยะฮฺเป็นผลให้ชนชาวเติร์กในเอเชียกลางหันมารับอิสลาม อย่างไรก็ตามอับบาสิยะฮฺกลับขยายการปกครองเข้าไปในแผ่นดินเติร์กไม่ได้ ชนชาวเติร์กแม้เปลี่ยนจากคริสต์และศาสนาอื่นมารับอิสลาม อีกทั้งหลายกลุ่มรับอารยธรรมจากอาหรับและเปอร์เซียเปลี่ยนสภาพจากชนเร่ร่อนมาทำการค้าทว่าการบริหารจัดการในพื้นที่ยังต้องใช้วิธีสร้างรัฐเอมิเรตส์เล็กๆขึ้นจัดตั้งข้าหลวงชาวเปอร์เซียที่คุ้นเคยพื้นที่เข้าไปดูแลมากกว่าเข้าไปปกครอง เติร์กเป็นกลุ่มชนที่อพยพย้ายถิ่นจากเทือกเขาอัลไตและพื้นที่อื่นในไซบีเรียเข้ามาในพื้นที่มองโกลและเอเชียกลางตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 4 ถึงกลางศตวรรษที่ 5 ตั้งชุมชนแบบชนเผ่าเลี้ยงปศุสัตว์เต็มพื้นที่เอเชียกลาง เมื่ออิสลามเริ่มแพร่เข้าสู่หมู่ชนชาวเติร์กช่วงศตวรรษที่ 8 ผ่านเข้าสู่ศตวรรษที่ 9 เอมิเรตส์ในพื้นที่รวมกลุ่มจัดตั้งเป็นอาณาจักรขึ้นตอนต้นศตวรรษที่ 9 ชื่อ #ซามานิด (#Samanid ค.ศ.819-999) ก่อนถูกกลืนเข้ากับจักรวรรดิของชนชาวเติร์กที่ชื่อว่า #ฆาสนาวิด (#Khaznavid ค.ศ.977-1186) ที่ปกครองพื้นที่เติร์กเมนิสถาน โดยก่อนหน้านั้นชนเติร์กในพื้นที่คาซักสถาน อุซเบกิสถานจนถึงกีรจิสถานได้รวมกลุ่มเป็นสหพันธ์สร้างอาณาจักรในลักษณะรัฐข่านขึ้นชื่อ “#ฆาราฆานิด” (#Qarakhanid ค.ศ.840-1212) ชนเติร์กจำนวนมากที่เข้ารับอิสลามคือชนเติร์กทางเหนือซึ่งกล่าวกันว่าแห่แหนกันเข้ารับอิสลามมากถึงสองแสนคน ชนกลุ่มนี้รวมกลุ่มกันเป็นสหพันธ์จัดตั้งรัฐข่านฆาราฆานิดขึ้น ปัญหาคือแม้เข้ารับอิสลามแล้วยังเกิดปัญหากระทบกระทั่งสู้รบกันเองบ่อยครั้ง จักรวรรดิฆาสนาวิดกระทบกระทั่งกับรัฐข่านฆาราฆานิดชนิดไม่มีใครยอมใคร ชนเผ่าเติร์กจากตอนเหนือยังคงหลั่งไหลลงมาสู่เอเชียกลาง สร้างชุมชนลักษณะชนเผ่าตามพื้นที่ต่างๆนับร้อยนับพันเผ่า ส่วนใหญ่ยังคงความเป็นชนเร่ร่อนเลี้ยงปศุสัตว์ (Nomadic) จำนวนหนึ่งเปลี่ยนอาชีพมาทำการเกษตรและการค้าตั้งฐิ่นฐานอยู่กับพื้นที่ (Sedentarized) เข้ารวมกับสหพันธ์บ้างเป็นอิสระบ้าง แม้สร้างรัฐหรืออาณาจักรขึ้นมาได้ ความที่ขาดประสบการณ์การบริหารจัดการ รัฐที่เกิดขึ้นจึงมักรักษาไว้ไม่ได้ ความสับสนวุ่นวายหาความสงบได้ยากระหว่างชนเติร์กด้วยกันในพื้นที่เอเชียกลาง ความไม่อุดมสมบูรณ์นักของพื้นที่ผลักดันให้ชนเติร์กจำนวนไม่น้อยใฝ่ฝันที่จะสร้างรัฐของตนเองขึ้น ความสำเร็จเริ่มเห็นผลจากการก้าวขึ้นสู่อำนาจของเติร์กเผ่าหนึ่งนั่นคือ “#เซลจุก” (#Seljuk) การเข้ามาของอับบาสิยะฮฺทำให้มีชนเติร์กจำนวนไม่น้อยมีโอกาสทำงานเป็นทหารและรับราชการในราชสำนักได้เรียนรู้กระบวนการบริหารจัดการรัฐมาพอสมควร คนเหล่านี้มีส่วนสำคัญที่ทำให้ชาวเติร์กมีความพร้อมมากขึ้นกับการสร้างรัฐที่มั่นคงของตนเอง ความฝันเริ่มปรากฏเค้าลาง ชนชั้นนำเติร์กเห็นพ้องกันว่าการสร้างรัฐควรเป็นพื้นที่ที่มีอารยธรรมระดับสูงมาก่อนโดยเป็นแผ่นดินภายใต้อิทธิพลของอิสลามนั่นคือเปอร์เซียหรืออียิปต์ แทบไม่มีใครคิดเรื่องเอเชียไมเนอร์หรือคาบสมุทรอะนาโตเลียซึ่งเป็นพื้นที่อิทธิพลของไบแซนไทน์เลย #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *