ฉลอง 75 ปีโรงเรียนอิสลามศรีอยุธยามูลนิธิ

แวดวงมุสลิมประเทศไทยเฉพาะในภาคกลางที่มีนับจำนวนล้าน อยุธยาเป็นจังหวัดที่มีมุสลิมค่อนข้างหนาแน่น มีมัสยิดจดทะเบียนอยู่มากกว่าหกสิบแห่ง มุสลิมมีนับจำนวนแสน พี่ดำรง พุฒตาล บอกอยู่บ่อยว่ามุสลิมในอยุธยาสร้างชุมชนอยู่ท่ามกลางพี่น้องชาวพุทธ มัสยิดห้อมล้อมไปด้วยวัด ช่วยเหลือเกื้อกูลกันมานานนับร้อยปี มุสลิมเหล่านี้ในอดีตจำนวนไม่น้อยอาศัยอยู่ในแพจึงเรียกกันว่าแขกแพทำการค้าขึ้นล่องกันในลำน้ำ ช่วงย้ายนครหลวงมายังกรุงธนบุรีและกรุงเทพฯ มุสลิมจากอยุธยาล่องแพล่วงหน้าเข้ามาปักหลักอยู่กินกันในนครหลวงใหม่เต็มไปหมด เป็นเหตุให้มุสลิมตามลำคลองในกรุงเทพฯจำนวนไม่น้อยมีญาติอยู่อยุธยา

หนึ่งในชุมชนมุสลิมเก่าแก่ของอยุธยาคือคลองตะเคียนซึ่งตั้งอยู่ทางทิศใต้นอกเกาะเมืองอยุธยา ชุมชนมุสลิมแถบนี้เก่าแก่เกินกว่าสี่ร้อยปีหากนับจากมัสยิดแรกในแถบนี้คือมัสยิดตะเกี่ยโยคินราชมิสจินดาสยามอายุก็กว่า 400 ปีเข้าไปแล้ว นอกจากนั้นยังมีมัสยิดอื่นๆอีกแห่งสองแห่งที่มีชื่อเสียงที่สุดเห็นจะเป็นมัสยิดกุฎีช่อฟ้า มุสลิมแถบคลองตะเคียนเองปัจจุบันมีเป็นพันครอบครัว ส่วนที่จะขอกล่าวถึงในที่นี้คือโรงเรียนมุสลิมเก่าแก่ในย่านคลองตะเคียนที่มีชื่อว่า “โรงเรียนอิสลามศรีอยุธยามูลนิธิ” เรียกกันสั้นๆว่า “อศอ.” โรงเรียนแห่งนี้สร้างลูกศิษย์ลูกหาที่กลายมาเป็นคนสำคัญในสังคมมุสลิมและสังคมด้านนอกได้มากมาย มากจนกระทั่งผมแปลกใจ

อศอ.เปิดสอนสายศาสนามานานก่อนจะเปิดสายสามัญควบคู่ไปด้วยใน พ.ศ.2488 ฉลองครบรอบ 75 ปีในวันที่ 8-9 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมานี้เองโดยผมได้รับเกียรติเชิญไปเป็นประธานเปิดงานในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ได้พบกับผู้หลักผู้ใหญ่ของ อศอ.หลายท่านอย่างหะยีหะซัน ฮานาฟี ประธานมูลนิธิอิสลามอยุธยา อายุ 87 ปีแล้วยังเดินเหินคล่องแคล่ว ขณะที่อาจารย์ไฟซอล บุญรอด ผู้อำนวยการโรงเรียนเองบอกผมว่าชุมชนมัสยิดยะวาของผมในกรุงเทพฯมีความสัมพันธ์กับชุมชนมุสลิมย่านคลองตะเคียนมานานเกิน 60 ปีโดยในอดีตชุมชนมัสยิดยะวาจัดฟุตบอลประเพณีร่วมกับชุมชนมุสลิมคลองตะเคียนเป็นประจำ ฟังเรื่องราวจากอาจารย์ไฟซอลทำให้ผมรำลึกเรื่องราวในวันคืนเก่าๆเมื่อเนิ่นนานมาแล้ว เหตุการณ์ต่างๆค่อยๆย้อนคืนกลับมาทีละน้อย

เมื่อครั้งผมยังเป็นเด็ก ทางชุมชนมุสลิมมัสยิดยะวาจัดเรือลำใหญ่ล่องขึ้นมาที่คลองตะเคียนเยี่ยมเยียนมัสยิดตะเกี่ยและมัสยิดกุฎีช่อฟ้าสองสามปีครั้ง โดยทุกครั้งมีการแข่งฟุตบอลประเพณีกับชุมชนคลองตะเคียนร่วมอยู่ด้วย เมื่อได้เห็นรูปท่าน้ำเก่าของ อศอ.ผมจึงเริ่มจดจำได้ สนามหน้า อศอ.อาคารเก่านี่เองที่ผมในวัยเด็กเวลานั้นมายืนเชียร์ฟุตบอล วันเวลาผ่านมาเนิ่นนานจนแทบไม่เหลือเค้ารางความทรงจำ ต้องขอบคุณภาพเก่าที่เป็นรูปท่าน้ำภาพนั้นที่พอจะทำให้ผมจดจำเหตุการณ์เก่าๆขึ้นมาได้บ้าง น่าเสียดายที่ในวันนี้ท่าน้ำเก่าแห่งนั้นอันตธานหายไปจนไม่เหลือแล้ว #drwinaidahlan#ดรวินัยดะห์ลัน#มุสลิมอยุธยา#อศอ.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *