การเดินเร็วให้ประโยชน์ต่อสุขภาพผู้สูงอายุจริงหรือเปล่า

รู้กันอยู่ว่าการออกกำลังกายให้ประโยชน์ต่อสุขภาพ ทั้งทางกาย จิตใจ รวมไปถึงสติปัญญา แต่การออกกำลังกายมีหลายแบบ มีทั้งใช้อ็อกซิเจน ไม่ใช้อ็อกซิเจน ทั้งยืดหดกล้ามเนื้อ แบกน้ำหนัก ทั้งอยู่กับที่และเคลื่อนไหว จะเลือกแบบไหน หรือผสมผสานหลายแบบ มีให้เลือกสารพัด สุดท้ายสำหรับผู้สูงอายุ หากจะต้องวิ่งเหยาะ วิ่งเร็ว หรือออกกำลังกายแบบอื่น เช่น การเล่นเวท ยืดกล้ามเนื้อ เล่นกีฬา อาจก่อปัญหาบาดเจ็บทั้งกระดูก เส้นเอ็น กล้ามเนื้อ หากล้มขึ้นมายิ่งก่อปัญหาไม่รู้จบ นักวิทยาศาสตร์การกีฬาจึงแนะนำการเดินเร็วสำหรับผู้สูงอายุหรือผู้มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งปลอดภัยกว่า ง่ายกว่า ไม่หนักหนาจนเกินไปการเดินมีอยู่หลายแบบ ที่นิยมมากที่สุดทั้งยังนับเป็นการออกกำลังกายแบบแอโรบิคซึ่งช่วยให้ร่างกายใช้ไขมันส่วนเกินที่สะสมไว้ คือการเดินเร็ว (Brisk walking) ซึ่งหมายถึงเดินให้ได้ความเร็วประมาณ 100-110 ก้าวต่อนาที หนึ่งชั่วโมงเดินได้ 6,000-6,600 ก้าว ได้ระยะทาง 4.5-5.0 กิโลเมตร เมื่อคิดว่า 1 ก้าวคือระยะทาง 0.75 เมตรหรือ 30 นิ้วตามมาตรฐาน คนตัวเล็กขาสั้นย่อมได้ระยะทางน้อยลง แต่เมื่อนับเป็นจำนวนก้าว ระยะทางที่ได้ต่อชั่วโมงก็ไม่หนีไปจากนี้สักเท่าไหร่ เดินให้ได้อย่างน้อยครึ่งชั่วโมงก็เพียงพอแล้ว คำถามมีเพียงว่าเดินเร็วอย่างนี้ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพจริงหรือเปล่า มีข้อมูลทางวิชาการสนับสนุนไหมนักวิทยาศาสตร์การกีฬาแห่งมหาวิทยาลัย UPM ของมาเลเซีย นำโดย ดร.เซียวหรง บาย (Xiaorong Bai) ทำวิจัยเรื่องผลของการเดินเร็วที่มีต่อสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจได้ผลงานตีพิมพ์ในวารสาร Front Public Health เดือนมกราคม ค.ศ.2022 สรุปว่าคำแนะนำให้ผู้สูงอายุใช้วิธีออกกำลังกายด้วยการเดินเร็ว พูดกันมานานทว่าไม่ค่อยเห็นรายงานเชิงวิจัยสนับสนุนเป็นเรื่องเป็นราวสักเท่าไหร่ ทีมงานจึงคัดเลือกงานวิจัยที่ทำกันทั่วโลกช่วง ค.ศ.2020-2021 ได้งานวิจัยที่ตรงตามข้อกำหนดมา 13 ชิ้น จัดการรวบรวมและวิเคราะห์แบบ Meta-analysis ผลการวิเคราะห์ในเรื่องการสร้างความสมดุลของร่างกาย สร้างความยืดหยุ่นและความทนทานของกล้ามเนื้องานวิจัยยังมีไม่เพียงพอจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติม อย่างไรก็ตามในส่วนประโยชน์ของการเดินเร็วในเรื่องอื่นๆที่สำคัญพบว่าการเดินเร็วช่วยปรับปรุงสมรรถภาพการทำงานของหัวใจและหลอดเลือดได้จริง ช่วยสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ทั้งยังช่วยลดไขมันในร่างกายได้ เอาเป็นว่าให้ประโยชน์แน่นอน นอกจากนี้ทีมวิจัยยังแนะนำเพิ่มเติมด้วยว่าในเรื่องการเดินเร็ว ผู้สูงอายุควรได้รับการฝึกฝนทั้งเรื่องความเร็ว ความถี่ ความเข้มข้น ทั้งนี้เพื่อให้ผลลัพธ์ของการออกกำลังกายในเชิงวิทยาศาสตร์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ว่ากันอย่างนั้น #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #การเดินเร็วสำหรับผู้สูงอายุ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *