กว่าจะเป็น “ศวฮ.” สถาบันด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลแห่งแรกในโลก ภาคที่ 1 ตอนที่ 1.4 สี่ยุคของศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล

งานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิยมแบ่งเป็นยุค เช่น 1.0, 2.0, 3.0, 4.0 ศวฮ.แบ่งงานพัฒนาของตนในลักษณะนั้นได้เช่นกัน ได้แก่ ยุคที่ 1 บ่มเพาะงานวิทยาศาสตร์ฮาลาล พ.ศ.2537-2546; ยุคที่ 2 วางรากฐานงานวิทยาศาสตร์ฮาลาล พ.ศ.2547-2555; ยุคที่ 3 บูรณาการงานองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2556-2562; ยุคที่ 4 มุ่งสู่เทคโลโลยีดิจิตอลและบีซีจี พ.ศ.2563-อนาคต, แต่ละยุคมีปรากฏการณ์ที่เสมือนการขีดเส้นแบ่ง จึงขออธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละยุคเพื่อให้ได้เห็นภาพโดยสังเขป ก่อนจะอธิบายรายละเอียดในเนื้อหาของหนังสือยุคที่ 1 “บ่มเพาะงานวิทยาศาสตร์ฮาลาล” พ.ศ.2537-2546 เริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2537 กับคำถามง่ายๆว่าน้ำมันหมูทาบนเส้นก๋วยเตี๋ยวจะตรวจสอบอย่างไร นำไปสู่การจัดตั้ง “ศูนย์วิจัยไขมันและน้ำมัน” คณะสหเวชศาสตร์ ใน พ.ศ.2538 โดยแทรกงานวิทยาศาสตร์ฮาลาลเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคมุสลิมไว้ ใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์ซึ่งมีอยู่สองเครื่อง ได้แก่ Gas Chromatograph และ Spectrophotometer ในการดำเนินงาน สร้างผลงานหลายชิ้นสร้างการสนับสนุนจากสังคมได้มาก ดังเช่น เปิดเผยการแปลงไส้กรอกหมูเป็นไส้กรอกมุสลิมใน พ.ศ.2540 ยุคที่ 2 “วางรากฐานงานวิทยาศาสตร์ฮาลาล” พ.ศ.2547-2555 วันที่ 13 สิงหาคม 2546 คณะรัฐมนตรีมีมติให้จัดตั้งห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ฮาลาลขึ้นในคณะสหเวชศาสตร์เพื่อสนับสนุนกิจการฮาลาลของประเทศอนุมัติงบประมาณวิจัยสามปีคือ พ.ศ.2547-2549 งานเริ่มจริงจังใน พ.ศ.2547 จัดตั้งห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ฮาลาล ถึงปลาย พ.ศ.2547 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอนุมัติการจัดตั้ง “ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” (ศวฮ.) อย่างเป็นทางการโดยแยกออกจากคณะสหเวชศาสตร์ ศวฮ.พัฒนางานขึ้นหลายชิ้นทั้งงานนิติวิทยาศาสตร์ฮาลาล, งานการมาตรฐานฮาลาล, งานคุ้มครองผู้บริโภคด้านฮาลาล ฯลฯยุคที่ 3 “บูรณาการงานองค์กรศาสนาอิสลาม” พ.ศ.2556-2562 ปีงบประมาณ พ.ศ.2556 ศวฮ.จัดงบประมาณส่วนหนึ่งเพื่อดำเนินงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย (สกอท.) และสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด (สกอจ.) เวลาต่อมาได้รับงบประมาณโครงการยุทธศาสตร์ฮาลาล พ.ศ.2559-2563 งานความร่วมมือกับองค์กรศาสนาอิสลามพัฒนาก้าวหน้ามากขึ้น กระทั่งเข้าปีงบประมาณ พ.ศ.2563 เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารกระทรวง การดำเนินงานได้รับผลกระทบยุคที่ 4 “มุ่งสู่ยุคเทคโลโลยีดิจิตอลและบีซีจี” พ.ศ.2563-อนาคต การย้ายสังกัดมหาวิทยาลัยสู่กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านการวิจัยของประเทศส่งผลกระทบต่อ ศวฮ.โดยตรง เป็นผลให้งบประมาณ พ.ศ.2563 ของ ศวฮ.ซึ่งบรรจุอยู่ภายใต้โครงสร้างงานวิจัยถูกตัดออกจนสิ้น ไม่เว้นแม้งบบุคลากร เป็นยุคที่ ศวฮ.ดิ้นรนเพื่อการอยู่รอดอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม ในทุกวิกฤติย่อมมีโอกาส การก้าวเข้ามาของเทคโนโลยีดิจิตอลและบีซีจี สร้างโอกาสให้ ศวฮ.ปรับตัวเพื่อพัฒนางานทั้งสองสาขา เสริมเข้ากับงานเดิม อนาคตยังคงสว่างไสว โดยอาจมากกว่ายุคอดีตที่ผ่านมาเสียด้วยซ้ำ#drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #กว่าจะเป็นสถาบันด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลแห่งแรกในโลก, #ศวฮ.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *