กว่าจะเป็น “ศวฮ.” สถาบันด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลแห่งแรกในโลก ภาคที่ 1 ตอนที่ 1.3 วัตถุประสงค์การจัดตั้งตามข้อบังคับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อได้รับงบประมาณ พ.ศ.2547-2549 ตามมติคณะรัฐมนตรีในการประชุมวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ.2546 ได้มอบหมายให้ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ฮาลาล ศูนย์วิจัยวิทยาลิพิดและไขมัน (ชื่อเดิมคือศูนย์วิจัยไขมันและน้ำมัน) รับผิดชอบการดำเนินงานทั้งหมด ต่อมาปลาย พ.ศ.2547 อธิการบดี ศ.ดร.คุณหญิงสุชาดา กีระนันทน์ เห็นชอบให้งานวิทยาศาสตร์ฮาลาลแยกออกจากคณะสหเวชศาสตร์ยกระดับเป็น “ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” (ศวฮ.) ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการดำเนินงานและการเติบโตในอนาคต ในการนี้สภามหาวิทยาลัยมีมติในการประชุมครั้งที่ 658 วันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ.2547 อนุมัติการจัดตั้ง “ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล” ขึ้น มีการจัดทำระเบียบว่าด้วย ศวฮ. พ.ศ.2550 ต่อมาเปลี่ยนเป็นข้อบังคับตามระเบียบใหม่ของมหาวิทยาลัย ทั้งนี้สภามหาวิทยาลัยในการประชุมครั้งที่ 765 วันที่ 30 มกราคม พ.ศ.2557 กำหนดให้มีข้อบังคับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าด้วยศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.2557 โดยให้ ศวฮ.มีฐานะเป็นศูนย์ในกำกับของมหาวิทยาลัยจากข้อบังคับว่าด้วย ศวฮ. ข้อ 6 ระบุว่า ศูนย์มีวัตถุประสงค์ในการวิจัยและพัฒนางานทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาล และส่งเสริมงานฮาลาลทั้งที่เป็นอาหาร ที่มิใช่อาหารและงานบริการ ตลอดจนการบริการทางวิชาการและให้บริการทางด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ฮาลาลแก่หน่วยงานต่างๆ ซึ่งครอบคลุมถึง: (1) เป็นศูนย์กลางการพัฒนาวิชาการและบริการทางวิชาการทางด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลและสาขาที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ; (2) วิจัยและพัฒนาเทคนิควิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่ใช้ในการตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนสิ่งต้องห้ามทางศาสนาอิสลาม ตลอดจนงานการพัฒนางานการมาตรฐานฮาลาล ผลิตภัณฑ์และบริการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมงานฮาลาลทั้งที่เป็นอาหาร สิ่งที่มิใช่อาหารและงานบริการ; (3) ให้บริการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮาลาลในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการจัดประชุม, ฝึกอบรม, การสอน, การวิจัย, การแลกเปลี่ยน, ถ่ายทอด, เผยแพร่เทคโนโลยีแก่สถาบันการศึกษา, หน่วยงานราชการ, องค์กรศาสนาอิสลาม, องค์กรอื่นๆ, ตลอดจนภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศ เพื่อยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาล;(4) ให้บริการตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ฮาลาลแก่ภาคราชการ, ภาคธุรกิจ, องค์กรทางศาสนา, หน่วยงานและโครงการต่างๆ, รวมถึงการสุ่มตัวอย่างผลิตภัณฑ์ในตลาดเพื่อทำการตรวจวิเคราะห์สิ่งปนเปื้อนที่ต้องห้ามตามหลักการศาสนาอิสลามเป็นระยะเพื่อการดูแลมาตรฐานการผลิตและการคุ้มครองผู้บริโภค; (5) ดำเนินงานด้านหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจผลิตภัณฑ์ฮาลาลเพื่อบริการแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมโดยใช้วิทยาศาสตร์ฮาลาลเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินงาน; (6) ให้ความร่วมมือกับภาคราชการและเอกชนเพื่อการสนับสนุนกิจกรรมทางด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลและสาขาที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศเพื่อประโยชน์ต่อวงการวิทยาศาสตร์ฮาลาล#drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #กว่าจะเป็นสถาบันด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลแห่งแรกในโลก, #ศวฮ.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *