ไอเอฟ 5:2 ช่วยลดตับอักเสบและมะเร็งตับ

ไอเอฟ (IF, Intermittent fasting) อดอาหารแบบไม่ต่อเนื่อง ผู้คนนิยมนำมาปฏิบัติกันมากเพื่อลดความอ้วน ไอเอฟมีหลายแบบ ที่นิยมกันมากคือ 16:8 โดยใน 24 ชั่วโมง อดอาหาร 16 ชั่วโมง กิน 8 ชั่วโมง เช่น เปิดช่วงกินอาหารตั้งแต่ 7 โมงเช้าถึง 3 โมงเย็น ช่วงอดดื่มได้แต่น้ำเปล่า แนะนำเพิ่มเติมด้วยว่าช่วงกิน ควรลดปริมาณอาหารลง ช่วยให้ลดน้ำหนักได้เร็วขึ้น สุขภาพดียิ่งขึ้น การทำไอเอฟไม่ได้ทำทุกวัน ที่นิยมมากคือ “ไอเอฟ 5:2” หนึ่งสัปดาห์ 7 วัน ทำไอเอฟ 2 วัน กินปกติ 5 วัน เช่น ทำไอเอฟวันจันทร์กับวันพฤหัสบดี เลียนแบบการถือศีลอดของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลฯ นอกเดือนรอมฎอน

วารสาร Metabolism เดือนพฤษภาคม 2024 ตีพิมพ์งานวิจัยจากสถาบันมะเร็งแห่งเยอรมนี DKFZ ร่วมกับมหาวิทยาลัยทูบิงเงน (University of Tübingen) เยอรมนี ให้บทสรุปน่าสนใจว่าการทำไอเอฟ 5:2 ช่วยลดภาวะตับอักเสบและช่วยลดมะเร็งตับโดยอธิบายกลไกด้วยว่าช่วยได้อย่างไร การวิจัยทำในหนูทดลองที่ให้อดอาหารแบบไอเอฟ 5:2 เหตุที่ต้องใช้หนูเนื่องจากใช้เวลาน้อย สามารถศึกษาเจาะลึกเข้าไปถึงกลไกในตับได้ง่าย ย่นเวลาลงได้มาก การศึกษาในหนูทดลองจึงดีกว่า เร็วกว่าและประหยัดกว่าการศึกษาในมนุษย์ ว่ากันอย่างนั้น

สิ่งแรกที่ทำคือเหนี่ยวนำให้หนูทดลองเกิดการสะสมไขมันในตับให้ได้เสียก่อน เพื่อให้เกิดโรคตับชนิดไม่เกี่ยวข้องกับการดื่มแอลกอฮอล์ (Nonalcoholic fatty liver disease, NAFLD) วิธีการคือให้หนูกินอาหารไขมันสูงจนเกิดโรคอ้วน เกิดการสะสมไขมันในตับหรือเกิด visceral fat ผลที่ตามมาคือเกิดการสลายไขมันในตับแบบเลว (bad lipolysis) กรดไขมันอิสระหลั่งออกมามากนำไปสู่ภาวะตับอักเสบและโรคตับ NAFLD หากทิ้งปัญหาไว้อาจนำไปสู่มะเร็งตับ ในการศึกษาพบว่าเมื่อให้หนูอดอาหารแบบ ไอเอฟ 5:2 ไปสักระยะหนึ่ง เกิดการสลายไขมันจากตับแบบดี (good lipolysis) กรดไขมันอิสระหลั่งออกมา ไตรกลีเซอไรด์ในตับลดลง ภาวะไขมันพอกตับน้อยลง ความเสี่ยงต่อภาวะอักเสบและต่อมะเร็งตับลดลง

กลไกที่เกี่ยวข้องคือโปรตีนในตับสองตัว ได้แก่ PPARα และเอนไซม์ PCK1 เพิ่มการทำงานสลายไขมันในตับ กลีเซอรอลจากไตรกลีเซอไรด์เปลี่ยนไปเป็นกลูโคส นั่นคือการเร่งกลไกการสร้างน้ำตาลผ่านกระบวนการ gluconeogenesis เป็นผลให้การสะสมไขมันในตับลดลง ผลที่ตามมาคือภาวะไขมันพอกตับน้อยลง ภาวะอักเสบของเนื้อเยื่อตับลดลง ลดความเสี่ยงมะเร็งตับได้ในที่สุด สรุปคือการอดอาหารแบบไอเอฟ 5:2 ช่วยลดภาวะตับอักเสบและลดมะเร็งตับในผู้ป่วย NAFLD ดังนั้นเพื่อเสริมการป้องกันโรคไขมันพอกตับ ทีมวิจัยยังแนะนำให้บริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เพิ่มการออกกำลังกายเพื่อเร่งการสลายไขมันออกจากตับให้มากขึ้น

#ดรวินัยดะห์ลัน, #drwinaidahlan, #if, #intermittentfast

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *