ไอเอฟ 5:2 ช่วยลดตับอักเสบและมะเร็งตับ ตอนที่ 2

สองวันก่อนเขียนเรื่องการอดอาหารแบบ “ไอเอฟ 5:2 ช่วยลดตับอักเสบและมะเร็งตับ” โดยอ้างอิงผลงานวิจัยของ Suchira Gallage et al. A 5:2 intermittent fasting regimen ameliorates NASH and fibrosis and blunts HCC development via hepatic PPARα and PCK1 วารสาร Cell Metabolism 7 May 2024 มีผู้สนใจถามถึงเมแทบอลิซึม สงสัยว่ามันช่วยลดภาวะไขมันสะสมในตับได้อย่างไร จึงขออธิบายในที่นี้สักหน่อย

ก่อนอื่นต้องเข้าใจการสะสมไขมันในร่างกายเสียก่อน เริ่มต้นด้วย “ไขมันใต้ผิวหนัง (subcutaneous fats)” ซึ่งเป็นเซลล์กลุ่มไขมันขาว ทำหน้าที่สะสมไขมันเพื่อสร้างพลังงานและหน้าที่อื่น เช่น ฉนวน สร้างฮอร์โมน ช่วงที่เซลล์มีขนาดเล็กยังเป็นเซลล์ขยัน (active cells) ทำหน้าที่คล้ายต่อม endocrines สร้างและปล่อยฮอร์โมน ช่วยสร้างฮอร์โมน Adiponectin ควบคุมน้ำตาลในเลือดและเผาผลาญไขมันในเบต้าอ็อกซิเดชัน ทว่าเมื่ออายุมากขึ้น เซลล์มีขนาดใหญ่ สะสมไขมันมาก กลายสภาพเป็นเซลล์เฉื่อย (inert cells) การทำหน้าที่จึงลดลง

อีกกลุ่มหนึ่งคือ “ไขมันรอบอวัยวะ (visceral fats)” เป็นเซลล์กลุ่มไขมันขาวที่ห่อหุ้มอวัยวะภายในร่างกาย เริ่มต้นจากไขมันที่สะสมใต้ผิวหนังก่อนลุกลามเข้าไปสะสมภายในอวัยวะ ยังนับเป็นกลุ่มไขมันขยัน ทว่าเมื่อมีมาก เกิดความไม่สมดุลของฮอร์โมน หลั่งกรดไขมันอิสระมากเกิน รบกวนการทำหน้าที่ของฮอร์โมนอื่นนำไปสู่ภาวะดื้อต่อเล็พตินและอินสุลิน ก่อปัญหาโรคอ้วน เบาหวาน สโตรก (Stroke) โรคหัวใจ (CHD) ไขมันในเลือดผิดปกติ (Dyslipidemia) ประสาทเสื่อม (Dementia) เร่งขับสาร Cytokines ออกจากเซลล์เพิ่มความเสี่ยงต่อ CHD

ปัญหาของไขมันรอบอวัยวะปริมาณมากที่พบบ่อยคือกรณีของตับที่ก่อให้เกิดปัญหาไขมันพอกตับนำไปสู่ภาวะอักเสบของเซลล์ (inflammation) เกิดตับอักเสบที่มิได้มาจากการดื่มแอลกอฮอล์ (Non-alcoholic steatohepatitis หรือ NASH) ซึ่งพบมากในผู้ป่วยโรคอ้วน เบาหวาน ในภาวะนี้การสลายกรดไขมันอิสระจากเนื้อเยื่อไขมันที่มากเกินไปนำไปสู่การพอกไขมันรอบอวัยวะจึงนับเป็นการสลายไขมันที่เลว (Bad lipolysis) เกิดไขมันพอกตับ ภาวะอักเสบ (inflammation) ตับอักเสบ (steatosis) ตับแข็ง (cirrhosis) อาจนำไปสู่มะเร็งตับ

การลดภาวะไขมันพอกตับเพื่อลดปัญหาโรคตับยังสามารถทำได้ วิธีการที่นำเสนอตามงานวิจัยข้างต้นคืออดอาหารแบบไม่ต่อเนื่อง หรือ ไอเอฟ (intermittent fasting) การศึกษาในหนูทดลองพบว่าการทำไอเอฟ 5:2 ช่วยลดปัญหาไขมันพอกตับ เริ่มด้วยไอเอฟ 5:2 เพิ่มการสลายไขมันรอบอวัยวะภายในที่สะสมในรูปไตรกลีเซอไรด์ในตับ ถือเป็นการสลายไขมันที่ดี (Good lipolysis) ในที่สุดช่วยลดภาวะอักเสบ ลด NASH และลดความเสี่ยงต่อมะเร็งตับ ดูรายละเอียดตามรูปก็แล้วกัน #ดรวินัยดะห์ลัน, #drwinaidahlan, #ไอเอฟ5ต่อ2

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *