ไอเอฟเสริมถั่ว ช่วยดูแลดุลเมแทบอลิซึม น้ำหนักตัวและสุขภาพทางเดินอาหาร

อยากมีสุขภาพดีสมควรดูแลดัชนีมวลกายหรือบีเอ็มไอให้อยู่ในช่วง 18-25 กิโลกรัมต่อตารางเมตร คนเพศชายวัยทำงานตามมาตรฐานตะวันตก สูง 180 ซม. น้ำหนักตัว 70 กิโลกรัม จำนวนเซลล์ในร่างกายมีประมาณ 37.2 ล้านล้านเซลล์ ลำไส้ใหญ่มีจุลชีพประเภทแบคทีเรียจำนวน 48 ล้านล้านเซลล์อาศัยอยู่ โดยมีจำนวนมากกว่าเซลล์ร่างกายประมาณร้อยละ 30 นี่คือตัวเลขคร่าว ๆ ใครอยากมีสุขภาพดีสมควรดูแลค่าบีเอ็มไอให้อยู่ในช่วงที่กำหนด พร้อมดูแลจุลชีพในลำไส้ใหญ่ให้อยู่ดีมีสุข กรณีอ้วนขึ้น ค่าบีเอ็มไออยู่ระหว่าง 25-30 หากมากกว่านั้นคือเป็นโรคอ้วน ค่าบีเอ็มไอเกิน 30 แนะนำให้หาทางลดน้ำหนักตัวลง โดยแนะนำให้ดูแลสุขภาพทางเดินอาหารพร้อมกันไปด้วย ให้จุลชีพในลำไส้ใหญ่มีชีวิตสุขสบาย แนะนำกันอย่างนั้น

ข้อมูลงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐอะริโซนา ตีๅพิมพ์ในวารสาร Nature Communications วอลุ่ม 15(1) ค.ศ.2024 พบว่าคนอ้วนหรือเป็นโรคอ้วน อดอาหารแบบไอเอฟพร้อมบริโภคโปรตีนเป็นช่วง ๆ (pacing protein regimen) ผลที่ได้คือสุขภาพทางเดินอาหารดีขึ้น เมแทบอลิซึมของร่างกายสมดุลขึ้น สามารถควบคุมน้ำหนักตัวได้ดีเมื่อเทียบกับคนปกติที่ปฏิบัติไอเอฟหรือควบคุมอาหารเพียงอย่างเดียว ในการศึกษาใช้อาสาสมัครที่มีปัญหาอ้วนหรือโรคอ้วนจำนวน 41 คน เป็นหญิง 24 คน ชาย 17 คน แบ่งเป็นสองกลุ่มที่มีจำนวนเพศ สุขภาพร่างกาย สุขภาพทางเดินอาหารใกล้เคียงกัน ให้ทั้งสองกลุ่มอดอาหารแบบไอเอฟนาน 8 สัปดาห์ โดยกลุ่มแรกเสริมโปรตีนเพิ่มเติมเป็นช่วง ๆ โดยปรับให้ทั้งสองกลุ่มได้รับพลังงานจากอาหารใกล้เคียงกัน จากนั้นจึงตรวจสุขภาพทั้งร่างกายทั้งทางเดินอาหาร

ผลการศึกษาพบว่าอาสาสมัครอ้วนหรือเป็นโรคอ้วนที่ปฏิบัติไอเอฟพร้อมเสริมโปรตีน สามารถลดน้ำหนักตัวได้ดีกว่า สุขภาพทางเดินอาหารดีขึ้นโดยมีชนิดของแบคทีเรียหลากหลายขึ้น พบปริมาณสารเมแทบอลัยต์ในเลือดที่เป็นดัชนีบ่งชี้เมแทบอลิซึมของร่างกาย ได้แก่ cytokines ที่แสดงถึงการอักเสบลดลง กรดไขมันขนาดสั้นซึ่งแสดงถึงการสลายไขมันออกจากร่างกายเพิ่มขึ้น สรุปเป็นว่าการทำไอเอฟพร้อมเสริมโปรตีนช่วยดูแลสุขภาพร่างกายและทางเดินอาหารได้ดีกว่าการควบคุมพลังงานเพียงอย่างเดียว

ข้อแนะนำในการเสริมโปรตีน สามารถทำได้ง่าย ๆ โดยบริโภคโปรตีนเสริมในรูปผลิตภัณฑ์โปรตีนหรือง่ายกว่านั้น โดยเพิ่มการบริโภคถั่วเปลือกแข็งหรือนัท (nuts) หรือเมล็ดพืชหรือสีด (seeds) ชนิดคั่วแห้ง (dry roasted) ปริมาณโปรตีนคิดเป็นกรัมในครึ่งถ้วย (250 มล.) ที่ได้จากการบริโภคนัทหรือสีด เป็นต้นว่า ถั่วลิสงครึ่งถ้วยได้โปรตีน 17 กรัม, อัลมอนด์ 14 กรัม, ปิตาชิโอ 13 กรัม, เมล็ดทานตะวัน 12 กรัม, มะม่วงหิมพานต์ 10 กรัม, วอลนัท 9 กรัม ดูแลสุขภาพง่าย ๆ แถมอร่อยอีกต่างหาก ไปลองปฏิบัติกันดู

#ดรวินัยดะห์ลัน, #drwinaidahlan, #ไอเอฟ, #โปรตีน, #ถั่ว, #เมล็ดพืช, #นัทและสีด

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *