ไอเอฟลดโรคอ้วนไม่ได้หากยังบริโภคอาหารเท่าเดิมหรือมากขึ้น

“ไอเอฟ” (IF) อดอาหารแบบไม่ต่อเนื่อง หรืออดเป็นช่วง (Intermittent Fasting) ได้รับความนิยมมานานหลายสิบปีส่วนใหญ่นำไปปฏิบัติเพื่อลดน้ำหนักตัวหรือลดความอ้วน ทั้งนี้เนื่องจากสังคมตะวันตกหรือสังคมประเทศกำลังพัฒนามีคนอ้วนหรือเป็นโรคอ้วนจำนวนมาก ค่าดัชนีมวลกายหรือบีเอ็มไอสูงกว่า 25 ข้อมูล ค.ศ.2022 พบว่าในสหรัฐอเมริกามีประชากรที่มีบีเอ็มไอเกิน 30 หรือถึงระดับโรคอ้วนมากถึงร้อยละ 40 นั่นคือปัญหาใหญ่ ไอเอฟเป็นการกำหนดช่วงเวลากินและอดอาหาร เช่น ใน 24 ชั่วโมง อด 16 ชั่วโมง กิน 8 ชั่วโมง (16/8 IF) การกำหนดช่วงเวลาอดอาหาร (Fasting time zone) นับเป็นหัวใจสำคัญ ที่นิยมคือกินช่วง 7 โมงเช้าถึง 3 โมงเย็นไอเอฟยังมีแบบสองวันต่อสัปดาห์ เรียกว่า 5:2 diet หรือ 5:2 IF เช่น อดวันจันทร์และพฤหัสบดี สิ่งที่น่าสังเกตคือแนวทาง IF นั้นคล้ายคลึงกับการถือศีลอดอาหารในเดือนรอมฎอนตามแนวทางอิสลาม ขณะที่ 5:2 diet ไม่ต่างจากการอดอาหารแบบสุนนะฮฺในอิสลาม จะว่าการปฏิบัติ IF และ 5:2 diet ใช้แนวทางอิสลามก็ไม่ผิดมุสลิมถือศีลอดเพราะเป็นหลักปฏิบัติในศาสนา มิใช่เพื่อลดน้ำหนักตัวซึ่งเป็นเพียงผลพลอยได้ ทั้งไอเอฟหรือ 5:2 diet หรือแม้แต่การถือศีลอดแบบอิสลาม อาจไม่ได้ผลในการลดโรคอ้วน หากปริมาณพลังงานจากอาหารที่ร่างกายได้รับยังไม่เปลี่ยนแปลงหรือยังคงสูงอยู่ รู้กันอยู่ว่าความอ้วนนั้นเกิดจากร่างกายได้รับพลังงานมากกว่าที่นำออกมาใช้ ทำให้พลังงานส่วนเกินถูกสะสมในรูปไขมัน หากต้องการลดความอ้วน จำเป็นต้องลดพลังงานจากอาหารลงหรือทำให้ร่างกายใช้พลังงานมากขึ้น หัวใจสำคัญของการลดน้ำหนักหรือลดโรคอ้วนอยู่ตรงนั้นศาสตราจารย์เวนดี เบนเนตต์ (Wendy L. Bennett) แห่งมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ บัลติมอร์ และทีมงานศึกษาการอดอาหารแบบไอเอฟโดยนำผู้ใหญ่จำนวน 550 คนอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปมาติดตามศึกษานานหกปี นำผลงานตีพิมพ์ในวารสาร Journal of the American Heart Association เดือนมกราคม 2023 สรุปได้ว่าไอเอฟ ไม่มีความสัมพันธ์กับน้ำหนักตัว ไอเอฟช่วยลดน้ำหนักตัวลงได้โดยต้องลดการบริโภคอาหารลง ทีมวิจัยสรุปเพิ่มเติมด้วยว่าการปฏิบัติไอเอฟควรทำควบคู่ไปกับการออกกำลังกายเพื่อขับพลังงานส่วนเกินออก ข้อสรุปเป็นเช่นที่ผมนำมาปฏิบัติตลอดหลายปีที่ผ่านมา ตามปกติผมถือศีลอดอาหารแบบ 5:2 diet และปฏิบัติละหมาดวันละ 17 รอกะอัตอยู่แล้ว เมื่อต้องการลดน้ำหนักตัว ผมลดพลังงานจากอาหารลงจากที่เคยได้รับในอดีต เพิ่มเติมการออกกำลังกายด้วยการเดินหมื่นก้าวทุกวัน สรุปคือเพิ่มการใช้พลังงานอีกวันละ 300 กิโลแคลอรี ร่วมกับการลดพลังงานจากอาหารลง ผลปรากฏว่าลดน้ำหนักตัวลงได้ถึงร้อยละ 16 จากบีเอ็มไอเดิม 27 เวลานี้เหลือแค่ 23 เท่านั้น #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #IF, #ไอเอฟ, #ลดโรคอ้วน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *