ไมโครไบโอมในอาหารกับไมโครไบโอมในร่างกาย

ในอาหารที่บริโภคกันอยู่ทุกวันมีแบคทีเรียและจุลชีพสารพัดชนิดปนอยู่ แบคทีเรียเหล่านี้ส่วนหนึ่งถูกทำลายด้วยระบบย่อยอาหารทั้งกรดทั้งด่างทั้งเอนไซม์ที่มีอยู่ตลอดทางเดินอาหาร ทว่ามีแบคทีเรียจำนวนหนึ่งทนทานต่อระบบย่อยอาหารผ่านเข้าไปได้ถึงลำไส้ใหญ่ที่เป็นที่อยู่ของแบคทีเรียจำนวนมหาศาลที่เรียกกันว่า “ไมโครไบโอม” (Microbiome) แบคทีเรียเหล่านั้นอาศัยในร่างกายมนุษย์ในลักษณะพึ่งพาอาศัยต่างฝ่ายต่างให้ประโยชน์ซึ่งกันและกัน ไมโครไบโอมในร่างกายที่มีอยู่ก่อน (human microbiome) และส่วนที่เติมเข้าไปกับอาหาร (food microbiome) ที่บางครั้งเรียกว่า “โปรไบโอติกส์” (Probiotics) ให้ประโยชน์แก่สุขภาพของคนเรามากมายอย่างที่ไม่เคยคิด

ประมาณกันว่ามนุษย์วัยผู้ใหญ่ในร่างกายมีเซลล์ชนิดต่าง ๆ อยู่ 30 ล้านล้านเซลล์ ทั่วร่างกายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในลำไส้ใหญ่ยังเป็นที่อาศัยของแบคทีเรียต่าง ๆ ที่เรียกกันว่า “ไมโครไบโอม” ประมาณ 38-40 ล้านล้านเซลล์หรือมีมากกว่าเซลล์ร่างกายประมาณ 27-30% จำนวนไมโครไบโอมที่ว่านี้ลดลงฮวบฮาบหลังการขับถ่าย ก่อนจะเพิ่มจำนวนขึ้นอีกครั้งหลังการบริโภคอาหารวนเวียนกลับไปมาอย่างนั้น สุขภาพของคนเราส่วนหนึ่งจึงขึ้นกับความเป็นอยู่ของไมโครไบโอมเหล่านี้ จึงต้องสำนึกบุญคุณกันให้มากสักหน่อย

ร่างกายมนุษย์มียีน (genes) ประมาณ 20,000 ยีน ขณะที่ไมโครไบโอมทั่วร่างกายมนุษย์ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในลำไส้ใหญ่มียีนประมาณ 2 ล้านยีนหรือมีมากกว่ายีนมนุษย์ร้อยเท่า ตัวเลขเหล่านี้ไม่หยุดนิ่งแต่เปลี่ยนแปลงไปมาขึ้นกับหลายปัจจัย เมื่อเปลี่ยนอาหาร เปลี่ยนพฤติกรรม เปลี่ยนที่อยู่อาศัย เปลี่ยนสิ่งแวดล้อม จำนวนและชนิดของไมโครไบโอมก็เปลี่ยนแปลงไปทีละเล็กทีละน้อย เป็นอย่างนั้นไปตลอด ไม่เคยหยุดนิ่ง

เดือนตุลาคม ค.ศ.2024 ทีมวิจัยจาก University of Trento ร่วมกับ the European Institute of Oncology เมืองมิลาน อิตาลี ทำการศึกษาชนิดและจำนวนแบคทีเรียในอาหารที่คนอิตาเลียนบริโภคเข้าไป ทั้งนี้เพื่อสร้างฐานข้อมูลไมโครไบโอมในอาหาร ทีมวิจัยวิเคราะห์อาหารจำนวน 2,533 ชนิดศึกษาไมโครไบโอมในอาหารกระทั่งสามารถระบุชนิดของแบคทีเรียได้ 10,899 ชนิด ครึ่งหนึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน ได้ข้อสรุปว่าแบคทีเรียจากอาหารเหล่านี้เข้าไปเติมไมโครไบโอมประมาณ 3% ในลำไส้ของผู้ใหญ่และ 56% ของไมโครไบโอมในลำไส้ของทารก ไมโครไบโอมจากอาหารจึงผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกับไมโครไบโอมในร่างกายอันเป็นเรื่องปกติ ฉะนั้นอย่าตื่นกลัวเมื่อรู้ว่าคนเราต้องกินแบคทีเรียเข้าไปทุกวัน โดยส่วนใหญ่เป็นแบคทีเรียกลุ่มโปรไบโอติกที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ อย่าเผลอบริโภคอาหารที่มีแบคทีเรียก่อโรคเข้าไปมากเกินจนร่างกายขจัดไม่ได้ก็แล้วกัน #ดรวินัยดะห์ลัน, #drwinaidahlan, #foodmicrobiome, #microbiome, #probiotics

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *