หนังสือรางวัลชนะเลิศขององค์การรอบีเฏาะฮฺ (Muslim World League) ค.ศ.1979 ชื่อ The Sealed Nectar เขียนโดย Safiur Rahman Mubarakpuri นักวิชาการอิสลามชาวอินเดียเขียนไว้ว่านบีมุฮัมมัด (ซ.ล.) รับโองการแรกคือวรรค 1-5 บทที่ 96 อัลอะลัก (ก้อนเลือด) ของคัมภีร์อัลกุรอานตอนเช้าตรู่วันจันทร์ที่ 21 เดือนรอมฎอน ตรงกับวันที่ 10 สิงหาคม ค.ศ.610 โดยวรรคที่ 4-5 ระบุว่า “(อัลลอฮฺ) ผู้ทรงสอนการใช้ปากกา ผู้ทรงสอนมนุษย์ในสิ่งที่เขาไม่รู้” ผ่านมา 1,400 ปีข้อเท็จจริงเป็นไปตามนั้น โดยถ้อยความในอัลกุรอานจำนวนมากต้องอาศัยการตีความตามเทคโนโลยีของโลกที่แปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัย มาถึงวันนี้ใครจะไปเชื่อว่า เคยมีการกล่าวถึงความก้าวหน้าด้านดิจิทัลไว้แล้วในอัลกุรอาน ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อในคัมภีร์อัลกุรอานมีถ้อยความจำนวนหนึ่งที่ยากเกินกว่าจะทำความเข้าใจ ดังเช่น อัลมุฏ็อฟฟีฟีน 83:18-21 แปลโดยสมาคมนักเรียนเก่าอาหรับไว้ดังนี้ “มิใช่เช่นนั้น แท้จริงบันทึกของบรรดาผู้ทรงคุณธรรมอยู่ในอิลลิยูนอย่างแน่นอน และอันใดเล่าทำให้เจ้ารู้ได้ว่าอิลลิยูนคืออะไร คือบันทึกที่ถูกจารึกไว้ บรรดาผู้ที่อยู่ใกล้ชิดจะเป็นผู้ดูแลรักษา” คำว่า “อิลลียูน” (عِلِّيُّونَ) ในที่นี้ไม่มีผู้ใดในยุคนั้นเข้าใจความหมาย ทั้งยังมีคำว่า “มัรกูม” (مَرْقُومٌ) ที่รากของคำมาจาก Muraqam ที่หมายถึงตัวเลข ซึ่งโลกอาหรับยุคนั้นรู้จักคณิตศาสตร์เป็นอย่างดีแล้ว ทว่ายังไม่เข้าใจความหมายของคำว่าบันทึกในรูปตัวเลขได้ มาถึงยุคใหม่นี้ ความก้าวหน้าด้านดิจิทัลทำให้เข้าใจได้ว่ามัรกูมคือการบันทึกในรูปแบบดิจิทัลเป็นตัวเลข 0101 อิลลิยูนจึงหมายถึงการบันทึกในรูปดิจิทัลการอ่านอิลลิยูนทำไม่ได้โดยตรง วรรคที่ 21 ใช้คำว่า “ยัชฮะดูฮู” (يَّشۡهَدُهُ) ที่แปลว่าพยาน มีความหมายทำนองว่าการอ่านอิลลิยูนจำเป็นต้องผ่านพยานหรือผ่านสื่อใดสื่อหนึ่ง เทคโนโลยีวันนี้ อ่านหนังสือดิจิทัลทำได้โดยผ่านอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ คำว่า “บรรดาผู้ที่อยู่ใกล้ชิดจะเป็นผู้ดูแลรักษา” ตามที่สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับแปลไว้ อาจตีความได้ว่าการบันทึกในรูปดิจิทัลนั้นเก็บรักษาข้อมูลผ่านระบบความจำดิจิทัลซึ่งสอดคล้องกับถ้อยความที่ว่าอัลลอฮฺทรงสอนมนุษย์ในสิ่งที่พวกเขาไม่รู้ เหล่านี้จะถือเป็นความมหัศจรรย์ด้านการหยั่งรู้ของอัลกุรอานได้หรือไม่การบันทึกข้อมูลในโลกยุคไหม่แปรเปลี่ยนจากกระดาษสู่ดิจิทัล จากนั้นพัฒนาขึ้นสู่ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI (Artificial Intelligence) ก่อนต่อยอดขึ้นไปถึงระดับเอไอเรียนรู้ด้วยตนเองผ่าน Machine learning ที่เรียกว่า Generative AI โดยหุ่นยนต์พัฒนาอัจฉริยภาพการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง โลกอนาคตจึงก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว คลับคล้ายมนุษย์พยายามยกระดับตนเองขึ้นไปเป็นมนุษย์เทพทำนองนั้น ดังที่นักเขียนชื่อดังอย่าง Yuval Noah Harari เคยเขียนไว้เมื่อ ค.ศ.2015 ในหนังสือที่มีชื่อว่า Homodeus หรือมนุษย์เทพ ส่วนจะเป็นไปได้ตามนั้นหรือไม่ อัลกุรอานเปรยไว้บ้างไหม มีแต่อัลลอฮฺเท่านั้นที่ทรงรู้ #ดรวินัยดะห์ลัน, #drwinaidahlan, #ดิจิทัลในอัลกุรอาน, #เอไอ