เคยสังเกตไหมว่าทารกที่อ้วนเกินปกติหรือขาดอาหารในช่วงแรกของชีวิต ถึงช่วงบั้นปลายชีวิตมักมีอายุขัยสั้นแถมสุขภาพไม่ดีอีกต่างหาก แม้หลังวัยทารก เด็กเหล่านั้นจะได้รับการเลี้ยงดูอย่างถูกต้อง มีโภชนาการเหมาะสม ทว่าสุขภาพและอายุขัยช่วงบั้นปลายชีวิตมักมีปัญหา อาหารเลวที่มากเกินไปหรือน้อยเกินไปในช่วงแรกของชีวิตหรือแม้กระทั่งระหว่างตั้งครรภ์ก่อปัญหาบางอย่างที่ค่อนข้างยากต่อการแก้ไข ทีมวิจัยทางพันธุศาสตร์จึงอยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างกับกลไกทางพันธุกรรมในวัยทารกของเด็กเหล่านั้น งานวิจัยทำโดยทีมจากสถาบันสุขภาพผู้สูงอายุ (Healthy Ageing Institute) มหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน (University College London หรือ UCL) นำโดย ดร.นาซิบ อาลิค (Nazib Alic) ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Ageing เดือนพฤศจิกายน 2022 เป็นงานวิจัยในแมลงวันผลไม้ (Fruit fries) ซึ่งนิยมนำมาใช้ศึกษาด้านพันธุศาสตร์เนื่องจากดีเอ็นเอ (DNA) ของแมลงวันผลไม้ไม่ซับซ้อน วงจรชีวิตสั้น แพร่พันธุ์เร็ว สะดวกในการนำมาศึกษาด้านการผ่าเหล่า (mutation) ด้านพันธุกรรม (genetics) และด้านกระบวนการเหนือพันธุกรรม (epigenetics) ซึ่งศึกษาการแสดงออกของยีนที่เกิดจากกระบวนการอื่นนอกเหนือจากดีเอ็นเอโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านโภชนาการก่อนหน้านี้ ทีมวิจัยทีมนี้พบว่าแมลงวันผลไม้ที่กินอาหารที่มีน้ำตาลสูงในช่วงต้นชีวิตหรือช่วงวัยอ่อนจะมีชีวิตสั้นลง แม้ว่าหลังจากนั้นพวกมันจะได้รับอาหารที่ดีขึ้นแล้วก็ตาม แสดงว่าพฤติกรรมในช่วงแรกของชีวิตส่งผลต่อสุขภาพในช่วงปลายชีวิต สิ่งที่พบในงานวิจัยครั้งนั้นคืออาหารที่มีน้ำตาลสูงเข้าไปยับยั้งปัจจัยการถอดรหัสพันธุกรรมที่เรียกว่า dFOXO ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเผาผลาญกลูโคสอันส่งผลต่ออายุขัยที่ยืนยาวในภายหลัง ในการศึกษาครั้งใหม่ทีมวิจัยเข้าไปปรับเปลี่ยนพันธุกรรมของแมลงวันผลไม้เพื่อศึกษากลไก deFOXO ให้ละเอียดมากขึ้นโดยทำการเปิดการใช้งาน dFOXO ในแมลงวันผลไม้ตัวเมียช่วงสามสัปดาห์แรกของการโตเต็มวัยสิ่งที่ทีมวิจัยพบคือพฤติกรรมการบริโภคในวัยอ่อนส่งผลต่ออายุขัยของแมลงวันผลไม้ในระยะเวลานานกว่าหนึ่งเดือนซึ่งเป็นครึ่งชีวิตของแมลงวันผลไม้ ประสบการณ์ในวัยเยาว์ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของโครมาติน (chromatin) ซึ่งเป็นส่วนผสมของดีเอ็นเอและโปรตีน ประสบการณ์วัยเยาว์ที่ว่านี้ถูกจดจำไว้ในกระบวนการทางเอพิเจเนติกส์ นำไปสู่การแสดงออกของยีนช่วงปลายชีวิต ซึ่งช่วยให้สุขภาพแข็งแรงขึ้นในช่วงปลายชีวิตหรืออ่อนแอลงได้ทั้งสองทาง การเลี้ยงดูบุตรในช่วงแรกของชีวิตจึงสำคัญอย่างยิ่งต่ออายุขัยตลอดจนต่อสุขภาพของบุตรที่เติบโตขึ้น กลไกที่ว่านี้แม้เปลี่ยนแปลงได้ในภายหลัง ทว่าต้องใช้ความพยายามค่อนข้างมาก ทางที่ดีที่สุดคือดูแลโภชนาการในวัยเยาว์ของทารกให้ดีและเหมาะสมที่สุด ทีมวิจัยสรุปไว้อย่างนั้น #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #epigenetics, #โภชนาการวัยเยาว์ส่งผลต่อวัยผู้ใหญ่