คนไทยเรียกแผลเล็กๆ สีซีดๆ ที่อยู่บริเวณเยื่อบุภายในปาก หรืออยู่ตรงกระพุ้งแก้มหรือลิ้น หรือแถวเหงือกว่า “แผลร้อนใน” หมอจีนเชื่อว่าแผลประเภทนี้เกิดจากความร้อนในร่างกายมีมากเกินไปในเมื่อหาทางระบายออกไม่ได้ก็เลยระเบิดออกมาตามเยื่อบุที่มีลักษณะอ่อนอย่างเช่นในปาก หมอจีนจึงนิยมให้ดื่มน้ำขมหรือน้ำสมุนไพรเพื่อลดความร้อนภายในร่างกาย ซึ่งก็ได้ผลพอสมควรแพทย์ตามตำราตะวันตกบางคนอาจเข้าใจว่าแผลพวกนี้คือเริมหรือ herpes ซึ่งแผลเริมมักเป็นตุ่มใส ๆ บวมแดงเกิดเป็นแผลพุพองเม็ดเล็ก หลายเม็ดบริเวณเดียวกัน แผลร้อนในกับเริมจึงเป็นคนละกลุ่ม แพทย์บางคนเรียกแผลประเภทนี้ว่า aphthous ulcer ซึ่งอาจไม่ใช่เพราะแผลชนิดนั้นหมายถึงแผลเปื่อยในกลุ่มโรคปากเปื่อยเท้าเปื่อย โดยทั่วไปแผลในปากกลุ่มนี้เรียกกันทั่วไปว่า canker sores หมายถึงแผลในเยื่อบุปาก เรียกอย่างนี้จึงถูกต้องกว่า แผลในปากประเภทนี้เกิดจากไวรัสซึ่งยังไม่มียารักษา แต่พอจะลดปัญหาได้บ้าง วิธีรักษาง่ายๆคือเคลือบแผลด้วยยาบางชนิด ในการใช้โภชนาการ พิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่าไวรัสเป็นสิ่งกึ่งมีชีวิตต้องการอาหารเลี้ยงดูจึงควรเลี่ยงอาหารบางอย่างหรือเสริมบางชนิด อย่างเช่น แนะนำให้เลี่ยงอาหารที่มีกรดอะมิโนชนิดอาร์จินีน (Arginine) มากๆ และเพิ่มอาหารที่มีกรดอะมิโนไลซีน (Lysine) สูงๆ ถั่วทั้งหลาย อย่างเช่น ถั่วลิสง ถั่วนัท ถั่วปิตาชิโอ วอลนัท อัลมอนด์ บราซิลนัท ฮาเซลนัท ถือว่าเป็นอาหารกลุ่มที่มีอาร์จินีนสูง ควรหยุดไว้สักพัก ช็อกโกแลตมีน้ำตาลสูง ทั้งยังมีอาร์จีนีนค่อนข้างสูง ควรหยุดเช่นกัน อาหารอีกประเภทหนึ่งคือเจลาตินโดยเฉพาะอย่างยิ่งในขนมเยลลีประเภทเคี้ยวแล้วเด้งในปากทั้งหลาย เจลาตินพวกนี้มักทำจากหนังหมูซึ่งเป็นโปรตีนคุณภาพต่ำ มีอาร์จินีนสูง สมควรงด ข้อแนะนำด้านโภชนาการสำหรับดูแลแผลในปากเหล่านี้คือต้องเลือกอาหารที่มีไลซีนสูง อย่างเช่น สาหร่ายทะเล น่าจะลองกินสาหร่ายทะเลดู ส่วนผักทั้งหลายเป็นอาหารที่เหมาะสำหรับคนที่มีปัญหาท้องผูก ลองสังเกตดูก็ได้ว่าช่วงไหนเกิดท้องผูกมักมีปัญหาร้อนในบ่อยขึ้น ดังนั้นหากรับประทานผักลดอาการท้องผูก ร้อนในจะหายไป จึงควรเพิ่มผักในมื้ออาหาร แต่ขอให้เป็นผักที่สะอาดหน่อย อีกวิธีหนึ่งคือพักผ่อนให้เพียงพอ คนเครียด พักผ่อนน้อย เกิดปัญหาแผลร้อนในปากได้บ่อย จึงต้องระวัง #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #แผลร้อนในปาก