แบคทีเรียในลำไส้ใหญ่กับการควบคุมความดันโลหิต

ในร่างกายมนุษย์มีจุลชีพได้แก่แบคทีเรีย ไวรัส และเชื้อราซึ่งรวมเรียกกันว่า “ไมโครไบโอม” (Microbiome) อาศัยอยู่ทั่วร่างกายประมาณ 39 ล้านล้านเซลล์ เกือบทั้งหมดเป็นแบคทีเรียประมาณ 300 ถึง 500 สายพันธุ์อาศัยในลำไส้ใหญ่ แบคทีเรียเหล่านี้ประกอบด้วยยีนเกือบ 2 ล้านยีน สิ่งที่น่าสนใจคือแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่มีจำนวนและชนิดแปรผันไม่หยุดนิ่ง กลุ่มนั้นสูงขึ้นกลุ่มนี้ลดลง ส่งผลกระทบกับสุขภาพร่างกายของมนุษย์เป็นครั้งคราว วารสาร mSystems เดือนตุลาคม 2023 มีผลงานวิจัยจากมหาวิทยาลัย Inner Mongolia Agricultural University ลงพิมพ์ น่าสนใจคือทีมวิจัยศึกษาการเปลี่ยนแปลงของกลุ่มแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ของหนูทดลอง เมื่อให้หนูดื่มน้ำผสมฟรุคโตสนาน 16 สัปดาห์พบว่าความดันโลหิตของหนูเพิ่มขึ้น ทว่าเมื่อให้หนูดื่มน้ำผสมฟรุคโตส พร้อมกินอาหารที่มีแบคทีเรียชนิดโปรไบโอติกส์กลุ่มบิฟิโดแบคทีเรียม แลคติส และแลคโตบาซิลลัส แรมโนซัส ความดันโลหิตกลับไม่เพิ่มขึ้น แสดงว่าโปรไบโอติกส์จากแบคทีเรียสองกลุ่มที่ว่านั้นช่วยลดความดันโลหิต ในขณะที่ฟรุคโตสทำให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น นักวิจัยจึงอยากรู้ต่อไปว่ากลไกเป็นอย่างไรรู้กันมาก่อนแล้วว่าแบคทีเรียกลุ่มแลคโตบาซิลลัสอยู่ในกลุ่มของแบคทีเรียแกรมบวกซึ่งเป็นแบคทีเรียแบบไม่ใช้ออกซิเจนซึ่งจะเปลี่ยนน้ำตาลให้เป็นกรดแลคติคที่เป็นประโยชน์ต่อลำไส้ ขณะที่บิฟิโดแบคทีเรียม (Bifidobacterium) เป็นแบคทีเรียแกรมบวกที่ไม่เคลื่อนที่ มีรูปร่างคล้ายแท่ง ส่วนใหญ่ผลิตกรดไขมันสายสั้นหรือ SCFA ทั้งยังช่วยสร้างกรดแลคติกได้บางส่วน สารทั้งสองกลุ่มเป็นประโยชน์ต่อลำไส้ใหญ่เช่นกัน งานวิจัยสรุปว่าอาหารที่มีฟรุกโตสสูงในหนูทำให้แบคทีเรีย Bacteroidetes เพิ่มขึ้นและแบคทีเรีย Firmicutes ลดลง ผลคือความดันโลหิตสูงขึ้น ในขณะที่การเสริมด้วยโปรไบโอติกส์กลุ่มแลคโตบาซิลลัสควบคู่กับบิฟิโดแบคทีเรียมส่งผลให้แบคทีเรียกลุ่ม Lawsonia และ Pyrolobus เพิ่มขึ้นขณะที่แบคทีเรียกลุ่ม Alistipes และ Alloprevotella ลดลง ซึ่งสัมพันธ์กับความดันโลหิตที่ลดลง นี่เองที่เป็นกลไกของแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับความดันโลหิตเวลานี้ในโลกมีผู้ป่วยความดันโลหิตสูงมากขึ้น การป้องกันและแก้ไขง่ายๆทำได้ด้วยการแนะนำทางโภชนาการ เป็นต้นว่าให้ลดการบริโภคฟรุคโตส โดยการลดเครื่องดื่มประเภทน้ำอัดลมเติมน้ำตาลและลดขนมขบเคี้ยวรวมไปถึงขนมทั่วไปรสหวาน นอกจากนี้ยังแนะนำให้เสริมด้วยการดื่มนมเปรี้ยว โยเกิร์ต ผักผลไม้ดองบางชนิด ซึ่งมีโปรไบโอติกส์ประเภทแบคทีเรียกลุ่มแลคโตบาซิลลัสและบิฟิโดแบคทีเรียมปนกันอยู่ พวกเราลองนำไปปฏิบัติกันดู#drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #โปรไบโอติกส์กับความดันโลหิต

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *