ไม่มีใครอยากอ้วน นอกจากบุคลิกภาพไม่ดีแล้วยังเสี่ยงต่อสารพัดโรค หลายคนลดความอ้วนโดยอดอาหารบ้าง ลดอาหารให้พลังงานบ้าง ใช้โปรแกรมหรือผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนักบ้าง น้ำหนักตัวลดลงแล้ว สักพักน้ำหนักตัวก็เพิ่มขึ้นมาอีก เรียกกันในทางวิชาการว่า “โยโย่” บ่อยครั้งน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าเก่าเสียด้วยซ้ำ เนื่องจากการลดอาหารโดยขาดการออกกำลังกายเป็นผลให้มวลกล้ามเนื้อสูญสลาย อัตราการใช้พลังงานพื้นฐานหรือ BMR ของร่างกายลดลง เมื่อกลับมากินอาหารตามปกติ น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น สัดส่วนของไขมันในร่างกายมีมากกว่าเก่า อ้วนมากกว่าเดิมกลายเป็นอย่างนั้นระหว่างการอดอาหาร นักโภชนาการจึงแนะนำให้ออกกำลังกายควบคู่ไปด้วยเพื่อรักษามวลกล้ามเนื้อไว้ ดีกว่านั้นคือออกกำลังกายชนิดสร้างกล้ามเนื้อ เพื่อช่วยให้ BMR เพิ่มขึ้น หยุดอดอาหารแล้ว ร่างกายยังสามารถรักษาน้ำหนักตัวไว้ได้ดี แนะนำกันง่ายๆอย่างนั้น ทว่าผู้คนโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีปัญหาน้ำหนักตัวเกินพิกัดมักไม่อยากออกกำลังกาย ทั้งที่รู้ว่าให้ประโยชน์เพราะเข้าใจปัญหาของคนอ้วน ปลายเดือนมิถุนายน ค.ศ.2022 มีงานวิจัยน่าสนใจจากมหาวิทยาลัย Rutgers รัฐนิวเจอร์ซี สหรัฐอเมริกา ตีพิมพ์ในวารสาร Obesity โดยทีมวิจัยนำโดย ดร.แอนนา โอกิลวี (Anna R. Ogilvie) ใช้อาสาสมัครที่เป็นคนอ้วนแบ่งเป็นสองกลุ่มโดยทั้งสองกลุ่มเข้าโปรแกรมลดน้ำหนักตัว ได้รับอาหารน้อยลงโดยกำหนดให้พลังงานจากอาหารมีปริมาณเท่ากัน แตกต่างกันเพียงกลุ่มแรกให้กินอาหารที่มีสัดส่วนของโปรตีนสูง กว่ากลุ่มที่สอง ทั้งสองกลุ่มไม่มีโปรแกรมออกกำลังกาย เมื่อผ่านการทดลองหกเดือนปรากฏว่าทั้งสองกลุ่มมีน้ำหนักตัวลดลงเท่ากันคือร้อยละห้า เมื่อเจาะลึกลงไปในรายละเอียดพบว่าทั้งสองกลุ่มมีความแตกต่างกันกลุ่มที่ได้รับโปรตีนสูงมีพฤติกรรมเลือกบริโภคอาหารที่มีคุณภาพมากกว่ากลุ่มที่ได้รับโปรตีนต่ำ โดยเลือกกินผักผลไม้มากขึ้น ทั้งลดน้ำตาลและแป้งขัดสีลง เมื่อทำการวิเคราะห์องค์ประกอบของร่างกาย ทีมวิจัยพบว่ากลุ่มที่บริโภคโปรตีนสูงแม้มีน้ำหนักตัวใกล้เคียงกับกลุ่มบริโภคโปรตีนต่ำทว่าในร่างกายมีมวลกล้ามเนื้อสูงกว่า เป็นผลให้ร่างกายมี BMR สูงกว่า ดังนั้นในระยะยาวย่อมมีสุขภาพที่ดีกว่า ทีมวิจัยสรุปว่าผู้ลดน้ำหนักตัวหากไม่ออกกำลังกายเพิ่มมวลกล้ามเนื้อควรเพิ่มสัดส่วนโปรตีนในอาหารให้มากขึ้น แนะนำกันง่ายๆแต่มั่นใจว่าได้ประโยชน์ #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #เสริมโปรตีน, #ลดน้ำหนักตัว