เหตุใดผู้ป่วยโรคอ้วนร่างกายยิ่งสะสมไขมัน

รู้กันอยู่ว่าน้ำตาลก่อปัญหาโรคอ้วนโดยเปลี่ยนเป็นไตรกลีเซอไรด์สร้างเป็นไขมันสะสมในร่างกาย น้ำตาลเชิงเดี่ยวทั้งกลูโคสและฟรุคโตสจึงเป็นปัญหา น้ำตาลตัวร้ายคือฟรุคโตสเข้าไปก่อกวนการทำงานของจุดอิ่ม (Satiety receptor) บริเวณไฮโปธาลามัสของสมองก่อภาวะดื้อต่อฮอร์โมนอิ่มหรือเล็พติน (Leptin) จุดอิ่มไม่สามารถส่งคำสั่งไปยังร่างกายให้หยุดกินได้ ส่งผลให้ฟรุคโตสและกลูโคสที่กินเกินความต้องการเปลี่ยนเป็นไขมัน สะสมในเนื้อเยื่อไขมันกระทั่งเกิดโรคอ้วนตามมา นอกจากกลไกของฟรุคโตสแล้วยังมีกลไกอื่น ๆ ที่ก่อปัญหาโรคอ้วน

นักวิทยาศาสตร์พากันสงสัยว่าเหตุใดเมื่ออ้วนแล้วร่างกายจึงไม่ยอมหยุดอ้วน ดร.แคร์รี เฟอร์รารีโอ (Carrie Ferrario) แห่งคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมิชิแกน สหรัฐอเมริกา และทีมงานศึกษาสมองของหนูทดลองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสร้างแรงจูงใจที่เรียกว่า “นิวเคลียสแอคคัมเบน” (Nucleus Accumbens) ซึ่งเป็นส่วนที่พัฒนาขึ้นเพื่อช่วยให้รอดชีวิต โดยเกี่ยวข้องกับการหาอาหารและการมีเพศสัมพันธ์ซึ่งเป็นกลไกสำคัญทำให้มนุษย์รักษาเผ่าพันธุ์ไว้ได้ นำผลงานตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Neurochemistry เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.2022

ทีมวิจัยให้ข้อมูลว่าอาหารยุคปัจจุบันผ่านกระบวนการแปรรูปมากเกินไป ทั้งปรุงแต่งทำให้บริโภคมากขึ้น ทีมวิจัยให้ความสนใจต่อกลไกการทำงานของกลูโคสซึ่งเป็นแหล่งพลังงานหลักของสมอง อีกทั้งกลูโคสบางส่วนยังเปลี่ยนไปเป็นโมเลกุลใหม่ เช่น กลูตามีน, กลูตาเมต, กาบา (GABA) ซึ่งล้วนเป็นสารสื่อประสาทที่กระตุ้นการทำงานของเซลล์ประสาทในสมองและระบบประสาท ในเมื่อกลไกที่ก่อปัญหาโรคอ้วนส่วนหนึ่งมาจากฟรุคโตส ทีมวิจัยสนใจว่าในส่วนของกลูโคสส่งผลต่อสมองบ้างหรือเปล่า ทีมวิจัยศึกษาในหนูทดลองสองกลุ่มโดยให้หนูได้รับกลูโคสที่ติดฉลากสารรังสีเพื่อติดตามกลไกการทำงานของมันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมองหนูที่เป็นโรคอ้วน

นักวิจัยพบว่ากลูโคสใช้เวลานานในการเข้าสู่นิวเคลียสเซลล์ประสาทของสัตว์ที่เป็นโรคอ้วนเมื่อเทียบกับหนูปกติ เป็นผลมาจากความบกพร่องในกระบวนการรีไซเคิลสารสื่อประสาท การปิดหรือเปิดเซลล์ประสาทเกิดปัญหา นักวิจัยพบอีกว่าในส่วนของไซแนปส์ (synapse) หรือจุดเชื่อมของเซลล์ประสาทเกิดการสะสมของกลูตาเมตมากเกินไป เป็นผลให้ดุลระหว่างกลูตาเมตและกาบาซึ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการทำงานของสมองเกิดความผิดปกติ การทำงานของเซลล์ประสาทในนิวเคลียสแอคคัมเบนจึงเกิดปัญหา สมองหนูที่เป็นโรคอ้วนจึงทำงานผิดปกติส่งผลกระทบต่อการทำงานของจุดอิ่ม ผลที่ตามมาคือร่างกายสะสมไขมันมากขึ้น หนูที่เป็นโรคอ้วนจึงยิ่งอ้วนขึ้น

นี่คือส่วนหนึ่งของคำตอบที่ว่าเหตุใดคนเป็นโรคอ้วน ร่างกายจึงยิ่งสะสมไขมันมากขึ้น เข้าใจกลไกนี้ได้เมื่อไหร่ การแก้ปัญหาเพื่อรักษาโรคอ้วนย่อมทำได้ไม่ยากนัก ใครที่มีปัญหาโรคอ้วน จึงต้องอดใจรอคำตอบกันหน่อย

#ดรวินัยดะห์ลัน, #drwinaidahlan, #โรคอ้วน, #กลูโคส, #ฟรุคโตส

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *