ทั้งองค์การอนามัยโลก (WHO) และกรมอนามัย สธ. ต่างแนะนำให้ลดการบริโภคหวานโดยเฉพาะอย่างยิ่งหวานจากน้ำตาลทรายและฟรุคโตสไซรัป โดยไม่ให้เกินร้อยละ 10 ของพลังงานที่ได้รับต่อวัน กรณีคนไทยควรได้รับพลังงานวันละ 2,000 กิโลแคลอรี จึงไม่ควรได้รับพลังงานจากน้ำตาลเกิน 200 กิโลแคลอรี แต่แม้จะหมั่นแนะนำ แถมด้วยข่มขู่ด้วยข้อมูลปัญหาจากน้ำตาลไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มอุบัติการณ์โรคอ้วน เบาหวาน โรคหัวใจ รวมถึงโรคทางเมแทบอลิกอื่นๆ เอาเข้าจริงผู้คนก็ยังบริโภคน้ำตาลเกินข้อแนะนำ ดูอย่างคนอเมริกันก็คงได้ บริโภคน้ำตาลมากเกินไปถึง 22 ช้อนชาหรือ 440 กิโลแคลอรี กระทั่งอ้วนกันทั้งเมือง ห้ามอย่างไรก็ไม่ฟัง ดื้อกันได้อย่างนั้นช่วงโก-วิดระบาดหนักเช่นเวลานี้ ทางสาธารณสุขเพิ่มคำแนะนำว่าให้เลี่ยงอาหารหวานโดยเฉพาะอย่างยิ่งหวานจากน้ำตาลทรายและไซรัปฟรุคโตส ทว่ายังไม่มีทีมวิจัยใดหาข้อสรุปให้ได้ว่าเหตุใดจึงต้องแนะนำกันอย่างนั้น งานวิจัยเดือนสิงหาคม 2021 โดยทีมวิจัยจากสถาบันวิจัย Van Andel เมืองแกรนด์ราปิดส์ รัฐมิชิแกน สหรัฐอเมริกา นำโดย ดร. Althea N. Waldhart ตีพิมพ์ในวารสาร Cell Reports ได้ข้อสรุปออกมาแล้วว่าการบริโภคอาหารหวานโดยเฉพาะอย่างยิ่งหวานจากน้ำตาลทรายหรือไซรัปฟรุคโตสในปริมาณที่มากเกินกว่าข้อแนะนำ นอกจากจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วน เบาหวานและโรคทางเมแทบอลิกอื่นๆ แล้ว ยังสร้างปัญหาในระดับออร์กาเนลภายในเซลล์ได้อีก และนี่คือเหตุผลว่าเหตุใดจึงไม่ควรบริโภคหวานมากนักในช่วงนี้สิ่งที่ทีมวิจัยพบคือการสลายพลังงานที่ได้รับจากน้ำตาลโดยกลไกของอวัยวะย่อยภายในเซลล์ ได้แก่ ไมโตคอนเดรีย (Mitochondria) มีประสิทธิภาพลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แม้ได้รับพลังงานจากน้ำตาลสูงแต่เซลล์กลับสร้างพลังงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ เป็นผลให้ออกอาการเหนื่อยง่าย การทำงานของหัวใจและปอดลดประสิทธิภาพลง ช่วงการระบาดของโรคจากไวรัส จึงไม่แนะนำให้บริโภคน้ำตาลหรืออาหารหวานมากเกินไป เนื่องจากอวัยวะที่เป็นปัญหาคือระบบการหายใจและระบบการสูบฉีดโลหิตได้แก่ หัวใจและปอดจำต้องทำงานหนักเกินปกติ เป็นผลมาจากประสิทธิภาพการสร้างพลังงานในเซลล์ปอดและหัวใจเกิดปัญหา คำแนะนำให้ลดการบริโภคหวานในช่วงเวลาการระบาดของโรคจึงนับว่าดีต่อสุขภาพอย่างที่สุด #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #ลดอาหารหวาน