ในทางโภชนาการ แนะนำกันตลอดเรื่องการบริโภคสารอาหารเพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพ ซึ่งสารอาหารแต่ละกลุ่มให้ประโยชน์ต่างกัน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน ให้พลังงาน โปรตีนช่วยสร้างกล้ามเนื้อ สร้างเอนไซม์ และอื่นๆ วิตามิน เกลือแร่ รวมทั้งน้ำ และสารไฟโตนิวเทรียนท์ ช่วยสนับสนุนการทำงานของเอนไซม์ ช่วยด้านเมแทบอลิซึม แต่ก่อนจึงแนะนำว่าต้องกินอะไร (What) อย่างไร (How) มาถึงยุคนี้ รู้เพียงว่ากินอะไร อย่างไร เห็นท่าจะไม่พอ ต้องรู้ด้วยว่าจะกินเมื่อไหร่ (When) โดยมีเวลาเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งโภชนาการยุคใหม่เรียกว่า “โภชนาการเวลา” (Chrononutrition) ลึกซึ้งกันอย่างนั้นไม่นานมานี้ นักวิทยาศาสตร์ด้านโภขชนาการพบว่านาฬิกาชีวิต (Biological clock) เข้ามาเกี่ยวข้องกับกลไกทางเมแทบอลิซึม อย่างเช่นว่า การกินอาหารให้พลังงานช่วงเวลากลางคืน การทำงานของฮอร์โมนอินสุลินจะเปลี่ยนแปลงไป แทนที่จะเปลี่ยนแป้งให้เป็นพลังงาน กลไกกลับเปลี่ยนให้เกิดการสะสมพลังงานแทนที่จะนำไปใช้ คนที่กินอาหารให้พลังงานยามดึกจึงมักอ้วน เป็นเพราะอินสุลินเปลี่ยนการทำงานอย่างนี้นี่เองวารสาร Cell Reports ต้น ค.ศ.2021 ตีพิมพ์ผลงานจากมหาวิทยาลัย Waseda ของญี่ปุ่น เนื้อหาน่าสนใจ หัวหน้าทีมทำวิจัยคือ ศาสตราจารย์ ดร.ชินยะ เอโอยามา (Shinya Aoyama) ศึกษาผลของการย่อยสลายโปรตีนในแต่ละช่วงเวลาของวัน เพื่อให้ได้คำตอบว่าหากจะแนะนำให้คนทั่วไปบริโภคอาหารโปรตีน ควรกำหนดเวลาช่วงไหนของวันเพื่อให้โปรตีนที่บริโภคเข้าไป ช่วยสร้างกล้ามเนื้อได้ดีที่สุด รู้ๆกันอยู่ว่าในบรรดาอาหารให้พลังงานทั้งหมด โปรตีนนับว่าราคาแพงที่สุด หากกินโปรตีนแล้ว ร่างกายกลับนำไปสร้างพลังงานเช่นเดียวกับการกินแป้งหรือไขมันซึ่งมีราคาถูก การกินโปรตีนในลักษณะนั้นนับว่าสูญเปล่าผลของการศึกษาเชิงวิจัย ทีมงานพบว่าหากต้องการให้ร่างกายนำโปรตีนไปใช้สร้างกล้ามเนื้อ หรือเข้าไปเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของร่างกาย สมควรบริโภคโปรตีนช่วง “มื้อเช้า” (Breakfast) ซึ่งกลไกของร่างกายจะนำโปรตีนไปใช้ประโยชน์ตามที่ต้องการได้มากที่สุด โภชนาการเวลา (Chrononutrition) ซึ่งเป็นสาขาที่ก้าวหน้ามากขึ้นเวลานี้ จึงช่วยแนะนำในเรื่องโภชนาการว่าควรกินอะไร อย่างไร และเมื่อไหร่ เพื่อให้ร่างกายได้ประโยชน์จากอาหารมากที่สุด โลกทางโภชนาการก้าวหน้ากันไปถึงขั้นนั้นแล้ว #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #โภชนาการเวลา, #Chrononutrition