เมื่อผู้บริโภคบางกลุ่มมองเนื้อเพาะ (Cultured meat) ยังมีกลิ่นอายของเนื้อสัตว์

เนื้อสัตว์คือแหล่งโปรตีนชั้นยอดของมนุษย์ ให้กรดอะมิโนครบถ้วนในสัดส่วนที่ดี อย่างไรก็ตาม นักอนุรักษ์และผู้รักศีลธรรมมองว่าการผลิตเนื้อสัตว์สร้างปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม การทำปศุสัตว์เกิดการผลิตคาร์บอนจากมูลสัตว์และซากพืชและสัตว์ อีกทั้งมีการผลิตมีเธนจากเกษตรกรรมแปลงใหญ่เพื่อเตรียมอาหารสัตว์ นอกจากนี้ยังมีปัญหาด้านศีลธรรมจากการฆ่าและชำแหละสัตว์ เทคโนโลยีอาหารยุคใหม่จึงเน้นไปที่โปรตีนทางเลือก (Alternative Protein) มากกว่า

โปรตีนทางเลือกมีทั้งโปรตีนจากแมลง สาหร่าย และพืช มีการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อผลิตโปรตีนฐานพืช (Plant-based protein) รวมถึง “เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง” (Cultured meat) หรือ “เนื้อเพาะ” จากห้องทดลอง (Lab-grown meat) ทั้งโปรตีนฐานพืชและเนื้อเพาะถือเป็นอาหารใหม่ (Novel Foods) ในกลุ่มอาหารแห่งอนาคต (Future Foods) ประเด็นปัญหาคือการยอมรับของผู้บริโภคกลุ่มต่าง ๆ เป็นอย่างไร

กรณีโปรตีนฐานพืชคือรสชาติยังห่างไกลจากเนื้อสัตว์จำเป็นต้องพัฒนาด้านโครงสร้างรวมถึงรสชาติและรสสัมผัสให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้น เชื่อว่าในอนาคตโปรตีนฐานพืชจะกลายเป็นแหล่งโปรตีนที่สามารถทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ได้ในที่สุด ส่วนกรณีเนื้อเพาะนั้น การยอมรับของผู้บริโภคบางกลุ่มอาจยังเป็นปัญหา มีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเอดินเบอระ สก็อตแลนด์ ตีพิมพ์ในวารสาร Appetite เดือนกรกฎาคม ค.ศ.2024 พบว่ากรณีเนื้อเพาะยังมีประเด็นความรู้สึกเชิงจริยธรรมเกิดขึ้นในใจของผู้บริโภคบางกลุ่ม โดยผู้บริโภคกลุ่มนี้ยังมีความรู้สึกว่าเนื้อเพาะไม่เป็นธรรมชาติ โดยยังเกี่ยวข้องกับการใช้เนื้อเยื่อของสัตว์

ในงานวิจัยมีการสำรวจความคิดเห็นของผู้ใหญ่ชาวเยอรมันและอเมริกันจำนวน 1,800 คน มีการสร้างความเข้าใจในกระบวนการผลิตเนื้อเพาะ ให้เห็นว่าไม่มีการฆ่าหรือทำร้ายสัตว์ อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้บริโภคกลุ่มหนึ่งเห็นว่าการบริโภคเนื้อเพาะเป็นเสมือนการบริโภคเนื้อสัตว์ แม้ยอมรับข้อเท็จจริงทางวิชาการได้ ทว่าความรู้สึกเชิงจริยธรรมและศีลธรรมของผู้บริโภคกลุ่มนี้ยังยากที่จะยอมรับ ยังเกิดความรู้สึกว่าสิ่งนี้คือเนื้อสัตว์ที่มาจากสัตว์แท้ ๆ แตกต่างจากเนื้อสัตว์แปลงที่มาจากโปรตีนฐานพืช งานวิจัยชิ้นนี้จึงน่าสนใจในประเด็นเชิงศาสนาและจริยธรรม

สนใจงานวิจัยชิ้นนี้หาอ่านได้ใน Matti Wilks, Charlie R. Crimston, Matthew J. Hornsey. Meat and morality: The moral foundation of purity, but not harm, predicts attitudes toward cultured meat. Appetite, 2024; 197: 107297 DOI: 10.1016/j.appet.2024.107297

#ดรวินัยดะห์ลัน, #drwinaidahlan, #เนื้อเพาะ, #culturedmeat

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *