ตอนที่แล้วกล่าวถึง 4 ความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับ #มะเร็งต่อมลูกหมาก ความเชื่อทั้ง 4 ที่ว่านี้หน่วยงานที่เป็นผู้สรุปว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรคือ Fred Hutchinson Cancer Research Center แห่งนครซีแอตเติล สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นสถาบันด้านมะเร็งระดับโลก มีนักวิทยาศาสตร์จากสำนักงานนี้ได้รับรางวัลโนเบลถึง 3 คน ทีนี้ลองมาเริ่มด้วยเรื่องที่ 1 ก่อน นั่นคือความเชื่อที่ว่าใครมีฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศชายสูงจะเสี่ยงต่อมะเร็งต่อมลูกหมาก ในทำนองฮอร์โมนยิ่งมากความเสี่ยงก็ยิ่งสูงเหตุที่เชื่อกันอย่างนี้เป็นเพราะข้อเท็จจริงที่ว่าฮอร์โมนเพศหญิงคือเอสโตรเจนเกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งทั้งมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านม ยิ่งฮอร์โมนสูงความเสี่ยงก็ยิ่งมาก เหตุนี้เองจึงทำให้คนจำนวนไม่น้อยเหมารวมเอาว่ากรณีของมะเร็งต่อมลูกหมากซึ่งเป็นมะเร็งในเพศชายก็น่าจะสร้างปัญหาได้คล้ายคลึงกัน เอาเข้าจริงไม่ปรากฏว่ามีนักวิทยาศาสตร์พบความสัมพันธ์ระหว่างมะเร็งต่อมลูกหมากกับระดับ #เทสโทสเตอโรน (#Testosterone) เลย งานวิจัยใน ค.ศ.2008 ซึ่งรวบรวมงานวิจัยที่นับเป็นงานชิ้นใหญ่ไว้ 18 ชิ้น ให้ผลยืนยันออกมาว่ามะเร็งต่อมลูกหมากกับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนแท้ที่จริงแล้วแทบไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกัน ความเชื่อเรื่องที่ 2 มีว่าการกินมะเขือเทศหรือผลิตภัณฑ์จากมะเขือเทศมากๆแล้วช่วยแก้ปัญหามะเร็งต่อมลูกหมากได้ เรื่องนี้ดูเหมือนจะเชื่อกันมานาน เหตุที่ทำให้ผู้คนเชื่อกันอย่างนั้นก็เพราะในมะเขือเทศมีสารไลโคปีนที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ มีฤทธิ์บำรุงสายตาจึงเชื่อว่าน่าจะทำลายสารอนุมูลอิสระที่ก่อปัญหามะเร็งได้ด้วย แต่การศึกษาในชายจำนวน 3,500 คนทั่วประเทศสหรัฐอเมริกากลับไม่ได้ข้อมูลอย่างที่หวัง ความเชื่อเรื่องที่ 3 เป็นความเชื่อที่ว่าการรับประทานน้ำมันปลาที่มีกรดไขมันโอเมก้าสามสูงเป็นประจำจะช่วยลดมะเร็งต่อมลูกหมาก ทั้งนี้เนื่องจากน้ำมันปลาช่วยลดภาวะอักเสบในร่างกายได้ มีงานวิจัยขนาดใหญ่สองชิ้นที่โต้แย้งความเชื่อนี้ โดยหนึ่งชิ้นตีพิมพ์ในวารสารชื่อก้องโลกอย่าง American Journal of Epidemiology โดยพบว่าเมื่อระดับกรดไขมันโอเมก้าสามในเลือดมีค่าสูงขึ้นนอกจากไม่ช่วยเรื่องมะเร็งแล้ว ยังมีผลทำให้ความเสี่ยงที่จะเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดมีมากขึ้น กลายเป็นอย่างนั้นความเชื่อเรื่องสุดท้ายคือความเชื่อในเรื่องการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารประเภทวิตามินเกลือแร่เป็นต้นว่าวิตามินอีและซีลีเนียมที่ว่าช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งต่อมลูกหมากได้ เอาเข้าจริงงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิจัยนานาชาติ JAMA ใช้อาสาสมัครถึง 35,000 คน กลับพบว่าการเสริมวิตามินอีเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากมากขึ้นเสียด้วยซ้ำ กระทั่งทำให้ต้องหยุดการศึกษากลางคัน ความเชื่อก็คือความเชื่อ อาจไม่เกี่ยวข้องกับความจริง คราวหน้าลองไปดูข้อแนะนำในเชิงโภชนาการจริงๆที่ช่วยลดความเสี่ยงต่อมะเร็งต่อมลูกหมากกันดีกว่า #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน