ย้อนหลังกลับไป ค.ศ.1921 หรือเมื่อร้อยปีผ่านมาพอดิบพอดี ศาสตราจารย์ เซอร์เฟรเดอริก แบนติง (Sir Frederick Banting) และทีมงานคือ ดร.ชาร์ล เบสต์ (Charles Best) และ ดร.เจเจอาร์ แมคคลอด (JJR Macleod) แห่งมหาวิทยาลัยโตรอนโต แคนาดา ได้ค้นพบฮอร์โมนอินสุลินเป็นครั้งแรก นับจากปีนั้น ผู้ป่วยเด็กที่ตับอ่อนไม่สร้างฮอร์โมนอินสุลินส่งผลให้เด็กที่เป็นเบาหวานประเภทที่ 1 ร่างกายใช้พลังงานจากแป้งและน้ำตาลไม่ได้ มีชีวิตไม่ยืนยาวนัก แพทย์สามารถฉีดอินสุลินกระทั่งมีชีวิตเป็นปกติ นี่คือหนึ่งในคุณูปาการของความก้าวหน้าทางการแพทย์ที่รักษาชีวิตผู้คนไว้นับเป็นแสนรายนั่นเป็นเรื่องของผู้คนที่เกิดมาพร้อมพันธุกรรมที่บกพร่องร่างกายสร้างอินสุลินไม่ได้ ทว่ายังมีอีกโรคหนึ่งเกี่ยวข้องกับอินสุลินเช่นกันนั่นคือเบาหวานประเภทที่สองซึ่งเกิดในคนที่มีพันธุกรรมด้านการสร้างอินสุลินปกติ ทว่าเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ร่างกายเปลี่ยนแปลงไปจากปัญหาโรคอ้วนบ้างโรคอื่นบ้างส่งผลให้ตับอ่อนสร้างอินสุลินน้อยลง หรืออินสุลินมีความผิดปกติโดยตอบสนองต่อระดับน้ำตาลน้อยลง เกิดปัญหาที่เรียกว่าภาวะดื้อต่ออินสุลิน (Insulin resistance) เป็นผลให้เซลล์นำน้ำตาลมาสร้างพลังงานไม่ได้ เบาหวานกลุ่มนี้พบมากกว่ากลุ่มแรกถึง 24 เท่า คนในโลกประมาณร้อยละ 5 ที่เป็นเบาหวานกลุ่มนี้เบาหวานประเภทที่ 1 เจอเทคนิคชนิดที่เรียกว่า “เบรคทรู” (Breakthrough) หรือใหม่ถอดด้าม ประเภทเจาะทะลุเพื่อใช้ในการรักษาแล้ว เบาหวานปรเภทที่ 2 ก็น่าจะมีเทคนิคลักษณะเดียวกัน แทนที่จะต้องใช้ยากระตุ้นตับอ่อนกันไปทั้งชีวิต ดร.เบนจามิน เรนควิส แห่งคณะเกษตรและชีววิทยา มหาวิทยาลัยอลิโซนา และทีมงานจากสองสามมหาวิทยาลัย เชื่อมาโดยตลอดว่าการรักษาเบาหวานประเภทที่ 2 มีเทคโนโลยีประเภทนี้อยู่แล้ว เพียงแต่ต้องเข้าใจให้ได้แจ่มแจ้งเท่านั้นว่าโรคอ้วน ไขมันในตับกับเบาหวานประเภทที่ 2 เกี่ยวข้องกันอย่างไร หากเข้าใจกลไกได้ การรักษาด้วยวิธีการที่เรียกว่าเบรคทรูก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องยากสิ่งที่เรนควิสพบจากงานวิจัยของตนเองและทีมงานที่ทำกันมาตลอดเก้าปีคือไขมันในตับเกี่ยวข้องกับอุบัติการณ์เกิดเบาหวานประเภทที่ 2 คนเมื่ออ้วนขึ้นเกิดการสะสมไขมันในตับมากขึ้น ไขมันที่หลั่งออกมาจากตับมีผลต่อการหลั่งสารสื่อประสาทตัวหนึ่งที่ชื่อว่า Gamma-aminobutyric acid หรือ GABA โดยไขมันในตับเข้าไปเร่งการสร้างเอนไซม์ที่ทำหน้าที่ผลิต GABA และสารสื่อประสาทตัวนี้เองที่ทำให้กลไกสื่อสารระหว่างสมองกับตับเกิดปัญหา ปกติสารตัวนี้เป็นประโยชน์แต่ในกรณีเบาหวานประเภทที่ 2 กลายเป็นว่ามันกลับสร้างปัญหา เรนควิสเชื่อว่าหากสามารถยับยั้งการทำงานของ GABA ได้ ก็น่าจะเป็นหนทางในการแก้ปัญหาเบาหวานประเภทที่ 2 และนี่คือสิ่งที่เรนควิสเชื่อว่าคือจุดที่เรียกว่าเบรกทรู เป็นเทคโนโลยีถอดด้ามในการแก้ปัญหาเบาหวานประเภทที่ 2 ทีมวิจัยทีมนี้เชื่อกันอย่างนั้น #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #insulin, #GABA