คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติของไทยสู้อุตส่าห์ออกประกาศฉบับที่ 23 เมื่อพ.ศ. 2553 กำหนดมาตรฐานค่าเฉลี่ย PM 2.5 ในเวลา 24 ชั่วโมงไว้ที่ไม่เกิน 50 และค่าเฉลี่ยรายปีอยู่ที่ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สูงกว่าที่องค์การอนามัยโลกกำหนดเป็นมาตรฐานไว้ตั้งเท่าตัว ฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 ในกรุงเทพฯก็ยังสร้างสถิติเพิ่มขึ้นทุกวัน อย่างเช่นวันนี้ 16 มกราคม 2563 ทางกรุงเทพมหานครออกมาเตือนกันไว้ล่วงหน้าว่าค่าเฉลี่ย PM 2.5 จะสร้างสถิติใหม่ส่วนจะเกินเท่าไหร่นั้นคาดว่าคงมากกว่า 150 เป็นผลมาจากช่วงนี้คือเดือนธันวาคมถึงมกราคมซึ่งเป็นช่วงที่มีความกดอากาศต่ำแผ่ลงมาจากทางเหนือ ทำให้ลักษณะของอากาศใน กทม.มีสภาพ “คล้ายถูกครอบด้วยฝาชี”
สาเหตุหลักของ PM 2.5 ในกรุงเทพฯคือสภาพการจราจรที่หนาแน่นที่สร้างปัญหามากเกินร้อยละ 70 ถัดจากนั้นคือเรื่องการเผาไหม้พื้นที่ทางการเกษตร แต่จะเป็นจากสาเหตุใดก็ต้องหาทางแก้ปัญหา รัฐบาลกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติไปแล้วเสียด้วยซ้ำ แต่ยังแก้ไขได้ไม่มากสักเท่าไหร่ มีคำปลอบประโลมที่ไม่ค่อยได้ผลนักอย่างเช่นอีกไม่นานเมื่อการก่อสร้างรถไฟฟ้าทุกสายเสร็จสิ้นลง สภาพฝุ่น PM 2.5 จะลดลงตามไปด้วย แถมด้วยคำปลอบประโลมที่มาจากผู้รู้ซึ่งจะรู้จริงหรือเปล่าเผยแพร่ผ่านทาง Line ระบุว่า PM 2.5 ไม่ได้อันตรายอย่างที่เชื่อกัน แต่เมื่อตรวจสอบข่าวไปทั่วโลกปรากฏว่ามันไม่ใช่อย่างนั้น ในสหรัฐอเมริกาที่ว่าอากาศในเมืองสะอาดกว่ามาตรฐาน PM 2.5 ยังคร่าชีวิตคนในเมืองไปแต่ละปีไปเกือบแสนคน คร่าชีวิตคนมากกว่าหลายโรคเสียด้วยซ้ำ
คำแนะนำที่ดีที่สุดสำหรับวันนี้ซึ่งเป็นวันที่ PM 2.5 กำลังจะสร้างสถิติใหม่คือพยายามหลีกเลี่ยงการออกสู่ภายนอกให้มากที่สุด ประการแรกเพื่อลดการสัมผัสกับ PM 2.5 ประการที่สองเพื่อไม่ต้องเป็นฝ่ายสร้าง PM 2.5 เสียเองโดยลดการใช้ยานพาหนะ คำแนะนำอย่างนี้เป็นเพียงคำเตือน จำเป็นต้องช่วยกันระยะยาวด้วยอย่างเช่นตรวจสอบยานพาหนะของตนเองว่าสร้างควันดำควันขาวหรือไม่ หากสร้างก็ต้องรีบแก้ไข หยุดการเผาขยะหรือเศษไม้เศษหญ้าในที่โล่ง ดูแลเด็กๆในการปกครองให้ดีที่สุด ทรัพย์สินมีค่าอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทยในยามที่ประชากรแทบไม่เพิ่มจำนวนก็คือเด็กๆเหล่านี้ที่กำลังจะกลายเป็นอนาคตของสังคม ช่วยกันดูแลหน่อย