เจ็ตแลคทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้อย่างไร

คำว่า “เจ็ตแลค” (Jetlag) รู้จักกันดีอยู่แล้ว บางคนเรียกว่าเมาเครื่องบิน เป็นอาการที่เกิดจากการเดินทางข้ามเส้นแบ่งเวลาหรือ Time Zone กระทั่งเกิดผลกระทบต่อระบบนาฬิกาในร่างกาย (Circadian Rhythm) ผลคือนอนไม่หลับ ง่วง หาว อ่อนเพลีย คิดไม่ออก เบลอ หลงลืมชั่วขณะ อันเป็นอาการที่เกิดจากการเดินทางไกลโดยเครื่องบิน นี่เองที่ทำให้เรียกว่าเจ็ตแลค ยังมีอีกอาการหนึ่งที่อาจไม่ทันสังเกตที่เกิดจากการเดินทางข้ามโซนเวลานั่นคือน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น มักเข้าใจกันว่าเป็นผลมาจากการกินมากระหว่างอยู่ในต่างประเทศ เจ้าภาพเลี้ยงดีทำนองนั้น มีน้อยคนที่รู้ว่าสาเหตุหนึ่งมาจากแบคทีเรียกลุ่มโปรไบโอติกส์ในลำไส้ใหญ่เกิดอาการเจ็ตแล็กตามเจ้าของร่างกายไปด้วย เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่เคยรู้มาก่อนเจ็ตแล็กไม่ใช่อาการเมาเครื่องบินแต่เป็นเมาเวลาอย่างที่บอก เมื่อเดินทางข้ามเขตเวลาหลายๆเขตในช่วงเวลาสั้นๆอย่างเช่นเดินทางโดยเครื่องบิน ร่างกายยังชินอยู่กับเวลาเดิมเมื่อต้องเปลี่ยนเวลาจากกลางวันเป็นกลางคืนหรือเวลาช้าลงหรือเร็วขึ้นหลายชั่วโมง นาฬิกาภายในร่างกายเปลี่ยนเวลาตามไม่ทัน ปัญหานี้มิได้เกิดเฉพาะมนุษย์เท่านั้น แม้แต่แบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ก็เกิดปัญหาปรับตัวตามเวลาไม่ทันได้เช่นกัน แบคทีเรียในลำไส้ใหญ่คุ้นเคยกับนาฬิกาภายในร่างกายของคนที่มันอาศัยอยู่ เมื่อนาฬิกาในร่างกายก่อปัญหาเจ็ตแลค แบคทีเรียในร่างกายเกิดอาการเจ็ตแล็กตามไปด้วย มีงานวิจัยจากสถาบัน the Weizmann Institute of Science เมือง Rehovot ประเทศอิสราเอลตีพิมพ์ในวารสาร Cell ฉบับกลางเดือนตุลาคม 2014 นำทีมโดย Eran Elinav ทำการศึกษาประชากรของแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ในระยะเวลาต่างๆของอาสาสมัครที่เดินทางไปกลับจากนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกากับอิสราเอล พบว่ากลุ่มประชากรแบคทีเรียเปลี่ยนแปลงไป ยิ่งมีการเปลี่ยนแปลงเวลามากหรือเจ็ตแล็กมาก กลุ่มแบคทีเรียที่เอื้อต่อการสะสมไขมันจะมีปริมาณมากขึ้นแบคทีเรียกลุ่มโปรไบโอติกส์ในลำไส้ใหญ่มีจำนวนนับร้อยล้านล้านเซลล์ มีมากถึง 400 ชนิด แตกต่างกันทางด้านเมแทบอลิซึมมากมาย บางชนิดเป็นสาเหตุของโรคอ้วน นักวิจัยพบว่าแบคทีเรียกลุ่มที่ก่อโรคอ้วนมีปริมาณสูงขึ้นเมื่อเกิดอาการเจ็ตแล็ก ทิ้งไว้สักพักมันจะปรับตัวกลับมาอยู่ที่เดิมได้เอง การเพิ่มขึ้นของแบคทีเรียกลุ่มที่ก่อโรคอ้วนนี้ทำให้ผู้ที่เดินทางข้ามโซนเวลา เกิดการสะสมไขมันจนน้ำหนักตัวขึ้น สิ่งนี้เองที่เป็นคำตอบของความอ้วนที่เกิดขึ้นไปพร้อมๆกับอาการเจ็ตแลค แต่การสะสมไขมันที่ว่านี้เกิดขึ้นชั่วคราว สักระยะหนึ่งน้ำหนักตัวก็กลับมาอยู่ที่เดิม คนที่เดินทางข้ามโซนเวลาบ่อยๆจึงอ้วน ใครที่เคยเจอปัญหานี้ ในช่วงที่มีโควิด-19 ระบาด การเดินทางข้ามโซนเวลาเกิดขึ้นน้อยลง นี่อาจถือเป็นข้อดีของโรคโควิด-19 ได้เหมือนกัน #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #Jetlag, #Weightgain

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *