เข้าใจกันมานานว่าอาหารหมายถึงสิ่งที่บริโภคแล้วให้สารอาหาร (Nutrients) ที่ช่วยให้ร่างกายเจริญเติบโตและดำรงชีวิตอยู่ได้ ทว่าหลังอุบัติการณ์ของโรค COVID-19 อาจต้องเน้นคำว่า “ปลอดภัย” เข้าไปในนิยามของอาหาร เป็นนิยามเก่าที่คนยุคใหม่ลืมเลือนกันไปแล้ว อาหารตามนิยามที่ถูกต้องนั้นมนุษย์ต้องบริโภคกันมาหลายชั่วอายุคนกระทั่งมั่นใจว่าปลอดภัย อาหารที่ปลอดภัยในวัฒนธรรมหนึ่งใช่ว่าจะปลอดภัยต่อผู้คนในวัฒนธรรมอื่น เหตุนี้จึงต้องสร้างความเข้าใจในเรื่องอาหารกันเสียใหม่ เริ่มกันที่เรื่อง COVID-19 นั่นแหละ
โลกยุคแรกเต็มไปด้วยจุลชีพ (Microorganisms) ทั้งสาหร่าย เชื้อรา แบคทีเรีย รวมไปถึงไวรัสที่เป็นจุลชีพประเภทกึ่งชีวิตหมายถึงมีชีวิตด้วยตนเองไม่ได้จำเป็นต้องพึ่งพาสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นในการแพร่พันธุ์ จะว่าไวรัสเป็นเชื้อโรคของเชื้อโรคก็ผิด ไวรัสมีทั้งประเภทไวรัสดีเอ็นเอและไวรัสอาร์เอ็นเอ แบคทีเรียและไวรัสที่มีมากมายในโลกเหล่านี้มีทั้งประเภทก่อโรคและไม่ก่อโรค สร้างปัญหาทั้งในพืช สัตว์รวมถึงมนุษย์ที่ถือกำเนิดขึ้นในยุคหลัง พืชจึงสร้างสารพฤกษเคมีหรือไฟโตนิวเทรียนท์ขึ้นเพื่อต้านทานจุลชีพเหล่านั้น สัตว์และมนุษย์กินพืชจึงได้ภูมิต้านทานโรคติดมาด้วย อีกทั้งสัตว์และมนุษย์ยังสามารถสร้างภูมิต้านทานจุลชีพได้ด้วยตนเองโดยใช้เวลาปรับตัวในการสร้าง ครั้งแรกอาจสังเวยชีวิตกันบ้างจากนั้นจึงค่อยๆพัฒนาระบบภูมิต้านทานที่จิรังขึ้น
อันที่จริงทั้งแบคทีเรียและไวรัสไม่จงใจคร่าชีวิตผู้ที่เป็นโฮสต์ (Host) ซึ่งมันเข้าไปอาศัยอยู่ หากชีวิตโฮสต์สูญสิ้นเสียแล้ว จุลชีพเองก็คงไม่รอด เป็นเพราะชีวิตอยู่รอดได้จึงช่วยรักษาชีวิตให้จุลชีพ สุดท้ายจุลชีพทั้งแบคทีเรีย ไวรัส หรือแม้กระทั่งเชื้อราจึงกลายเป็นจุลชีพประจำถิ่น (normal flora) ของชีวิตที่มันอาศัย โดยใช้ชีวิตในลักษณะพึ่งพาอาศัยกัน ดังเช่น ในร่างกายมนุษย์มีจุลชีพประจำถิ่นในรูปของแบคทีเรียที่ให้ประโยชน์อาศัยอยู่ในร่างกายมากถึง 1.33 ล้านล้านเซลล์ ขณะที่จุลชีพที่เป็นไวรัสโดยเฉพาะอย่างยิ่งอาร์เอ็นเอไวรัส (RNA virus) เมื่อเข้าไปอาศัยอยู่ในสัตว์หรือพืชมีความสามารถที่จะผ่าเหล่าได้เร็ว สิ่งมีชีวิตที่มันอาศัยอยู่จึงจำเป็นต้องปรับภูมิต้านทานตามไปด้วย ปรับทันบ้างไม่ทันบ้าง แต่ก็อยู่ร่วมกันไปได้
สัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง (vertebrates) ในโลกมีอยู่ 62,000 ชนิดคาดกันว่ามีไวรัสในสัตว์เหล่านี้มากถึง 3.6 ล้านชนิดหรือโดยเฉลี่ยสัตว์หนึ่งชนิดมีไวรัสอาศัยอยู่ 58 ชนิด สัตว์ส่วนใหญ่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันไวรัสได้ หากสัตว์ถูกกินด้วยสัตว์อื่น ไวรัสย่อมกระจายไปสู่สัตว์อื่น ไวรัสบางชนิดอาจผ่าเหล่ากระทั่งก่อโรคต่อสัตว์ที่กินไวรัสชนิดนั้นเข้าไป ฉันใดฉันนั้น มนุษย์ที่กินสัตว์ป่าสัตว์แปลกที่ไม่เคยกินมาก่อนหรือเคยกินแล้วทว่ายังไม่ถึงระดับที่สร้างภูมิต้านทานได้ทันอาจได้รับไวรัสที่กลายพันธุ์กระทั่งก่อโรคขึ้นได้ อย่างเช่นกรณีการเกิดโรคซารส์ โรคเมอรส์ รวมถึง COVID-19 ล้วนเป็นผลมาจากการบริโภคสัตว์ที่กินสัตว์อื่นเป็นอาหาร นิยามของอาหารจึงสมควรเน้นเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก หาไม่แล้วโรคอุบัติใหม่จะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า จึงจำเป็นต้องรู้ว่าอะไรควรหรือไม่ควรกิน ตรรกะที่ว่าเมื่อปลอดภัยต่อคนอื่นย่อมปลอดภัยต่อตนเองนั้นไม่ถูกต้อง จำเป็นจะต้องเรียนรู้กันใหม่ #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #นิยามอาหาร, #COVID-19