ผมมีคนรู้จักหลายคนมีปัญหาเรื่องเก๊าท์ (Gout) บางครั้งเรียกว่าโรคเก๊าท์ซึ่งเป็นอาการข้ออักเสบชนิดเรื้อรัง เกิดปัญหาขึ้นแต่ละครั้งถึงขนาดเจ็บปวดทรมานกระทั่งเดินหรือเคลื่อนไหวร่างกายไม่ได้ ปัญหาของเก๊าท์เกิดขึ้นจากผลึกยูเรต (urate crystal) ตกตะกอนตามข้อต่อต่าง ๆ ในร่างกาย ทั้งข้อมือ ข้อนิ้ว ข้อศอกและอีกหลายข้อต่อของกระดูก ตกตะกอนแล้วสิ่งที่ตามมาคือการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันก่อให้เกิดอาการอักเสบ ปวด บวมแดง เก๊าท์กำเริบจึงก่อปัญหาต่อสุขภาพมากมาย ใครไม่เป็นเองอาจไม่เข้าใจสภาพความเจ็บปวดที่ว่านั้น
เก๊าท์เกิดกับผู้ชายมากกว่าผู้หญิงสามสี่เท่า คำแนะนำทางการแพทย์ที่ห้ามแตะต้องอาหารบางชนิดทำให้บางคนเข้าใจเอาว่าเก๊าท์เป็นปัญหาจากพฤติกรรมการกินอาหาร บางคนเข้าใจว่าเป็นโรคโภชนาการ ผู้ป่วยบางคนจึงเกิดอาการกระดากอายที่จะไปพบแพทย์ เกรงจะถูกตำหนิจากการไม่ระมัดระวังในเรื่องการกิน อันที่จริงเก๊าท์เป็นประเด็นด้านพันธุกรรม อาหารเป็นเพียงตัวกระตุ้นที่เร่งให้เกิดปัญหาการตกตะกอนของผลึกยูเรต อาหารบางชนิดจึงเป็นเสมือนไกปืน (trigger) ที่เหนี่ยวลั่นกระสุนเมื่อไหร่ อาการปวดก็กำเริบขึ้นเมื่อนั้น ทางการแพทย์จึงแนะนำให้เลี่ยงอาหารที่เป็นเสมือนไกปืน ผู้ป่วยแต่ละคนจึงควรสังเกตให้รู้ว่าอาหารอะไรบ้างที่เป็นไกปืนของตนเอง อาหารที่พบว่าเป็นปัญหาบ่อย ๆ คือเครื่องในสัตว์ เนื้อเป็ด เนื้อไก่ เนื้อแดง ยอดพืช ยอดผักที่เติบโตรวดเร็ว อาหารเหล่านี้มีสารพันธุกรรมอย่างดีเอ็นเอ อาร์เอ็นเอ ที่ขยายตัวรวดเร็วจึงต้องระวังกันหน่อย
ศาสตราจารย์ นพ.โทนี เมอร์รีแมน (Tony Merriman) จากภาควิชาจุลชีววิทยาและภูมิคุ้มกันวิทยา มหาวิทยาลัยโอทาโก (Otago University) ประเทศนิวซีแลนด์ และทีมงานคณะใหญ่ทำงานวิจัยเกี่ยวข้องกับโรคเก๊าท์มานานนับสิบปี ติดตามศึกษาผู้ป่วยเก๊าท์ทั่วโลกจำนวนกว่า 2.6 ล้านคน โดยวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างพันธุกรรมกับการเกิดโรคเก๊าท์นำผลงานที่วิเคราะห์ได้ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Genetics เดือนตุลาคม ค.ศ.2024 โดยหวังว่าข้อสรุปของงานวิจัยจะช่วยผู้ป่วยที่เคยเชื่อผิด ๆ ว่าโรคเก๊าท์เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมและการบริโภคอาหาร ทีมวิจัยทีมนี้ยืนยันชัดเจนว่าเกาท์เป็นโรคเรื้อรังที่มีปัจจัยพื้นฐานมาจากพันธุกรรมซึ่งไม่ใช่ความผิดของผู้ป่วย ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยเพราะเชื่อผิดจึงยอมทนทุกข์เมื่อเกิดอาการเจ็บปวด ทีมวิจัยแนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อรับยาป้องกันและรักษา ทั้งยาที่ช่วยลดการสร้างกรดยูริกในเลือดและยาลดอาการอักเสบและอาการปวด
เวลานี้ทีมวิจัยกำลังศึกษาชนิดของยีน (gene) และกระบวนการแก้ไขปัญหาจากยีน โดยมีแผนจะใช้วิธีการของยีนบำบัด (gene therapy) ตัวอย่างเช่นยีนตัวรับอินเตอร์ลิวคิน-6 ซึ่งเป็นตัวส่งสัญญาณกระตุ้นภูมิคุ้มกัน สำเร็จเมื่อไหร่ก็น่าจะช่วยรักษาหรือบรรเทาอาการเก๊าท์ได้มาก สรุปกันอย่างนั้น
#ดรวินัยดะห์ลัน, #drwinaidahlan, #เก๊าท์, #ยีนบำบัดโรคเก๊าท์