ภาวะโลกร้อนนับวันจะยิ่งทำให้ผู้คนในโลกห่วงใยเรื่องความมั่นคงของอาหาร (Food security) ดังนั้น เพื่อให้มั่นใจว่ามนุษย์จะยังมีแหล่งอาหารให้บริโภคได้ไม่ขาดแคลน ลองไปดูการพัฒนาอาหารกันในอนาคตกันดีกว่าว่ามีอะไรกันบ้าง เริ่มกันที่งานวิจัยจากมหาวิทยาลัย Wageningen ประเทศเนเธอร์แลนด์พบว่าแมลงจำนวน 1,400 ชนิด มนุษย์นำมาบริโภคในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นจิ้งหรีด ตั๊กแตน ด้วง นักวิจัยจึงพัฒนาระบบฟาร์มมินิ (Mini farming) ขึ้นเพื่อเพาะเลี้ยงแมลง ใช้พื้นที่น้อย น้ำน้อย ทรัพยากรน้อย ลงทุนต่ำ ใช้เวลาสั้น แต่ผลิตโปรตีนได้สูง เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค นักวิทยาศาสตร์จึงร่วมกันปรับปรุงรสชาติ กลิ่นรส ให้เป็นที่ถูกใจ เป็นที่ยอมรับของตลาด อีกทั้งเรียกชื่อใหม่เป็นต้นว่า เนื้อฟาร์มเล็ก (Mini farm meat) ในอนาคตใครได้ลองเนื้อแมลงจะจดจำไม่ได้เลยว่ามาจากเนื้ออะไร
ในการปรับปรุงรสชาติ นักเทคโนโลยีอาหารกำลังพัฒนาเทคนิคอุลตร้าซาวด์โดยพบว่าความถี่ของเสียงมีผลต่อการทำงานของฮอร์โมนในสมองสัตว์รวมถึงในพืช ส่งผลให้รสชาติเปลี่ยนแปลง การใช้เสียงความถี่ต่ำๆจะทำให้เกิดรสขมขึ้น ระดับเสียงสูงหรือแม้กระทั่งเสียงดนตรีช่วยเพิ่มรสหวาน ความรู้ด้านความถี่เสียงกับคุณภาพของเนื้อสัตว์และพืชจะพัฒนามากขึ้นในอนาคต นักวิทยาศาสตร์จะสามารถพัฒนาอุปกรณ์เพื่อช่วยให้รสชาติของอาหารดีขึ้น คิดกันไปถึงตู้เย็นหรือตู้แช่ที่ติดตั้งเครื่องดนตรีรวมถึงเสียงคลื่นในทะเล เสียงนกร้องในสวนที่จะทำให้อาหารที่แช่ไว้มีรสชาติดีขึ้น ไว้พวกเรารอบริโภคอาหารจากเทคโนโลยีเหล่านี้ก็แล้วกัน
อีกเทคโนโลยีหนึ่งที่คาดว่าจะมาแรงคือ “เนื้อแล็บ” (Lab-grown meat) หรือเนื้อเพาะ (Cultured meat) ที่เกิดขึ้นในห้องปฏิบัติการ โดยเพาะสเต็มเซลล์ที่นำมาจากสัตว์เป็นๆ จากนั้นใช้เทคโนโลยีเพาะเลี้ยงกระทั่งเซลล์ต้นกำเนิดสร้างเซลล์กล้ามเนื้อขึ้น เซลล์เหล่านี้ถูกเลี้ยงไว้ในถังเพาะคล้ายการเพาะเลี้ยงสาหร่ายในถัง มีการเลี้ยงด้วยอาหารเหลวที่ใช้สาหร่ายหรือแพลงตอนเป็นแหล่งของสารอาหาร มีการเปลี่ยนถ่ายอาหารเหลวตลอดเวลา เซลล์ถูกสร้างขึ้นจนกระทั่งกลายเป็นก้อนเนื้อที่มีสภาพของเนื้อทุกประการ เนื้อเพาะเหล่านี้ไม่มีการเชือดสัตว์ให้รู้สึกผิดบาป อีกทั้งแหล่งของสารอาหารที่ใช้เพาะเลี้ยงยังเป็นมังสะวิรัติล้วนๆ เชื่อกันว่ากลุ่มคนที่เป็นมังสะวิรัติไม่กินเนื้อสัตว์อาจให้การยอมรับเนื้อเพาะเหล่านี้ก็ได้
อีกแหล่งหนึ่งของอาหารในโลกอนาคตคือการทำฟาร์มขนาดใหญ่ใต้ทะเล มีสาหร่ายและอัลเจประมาณ 145 ชนิดที่มนุษย์ในพื้นที่ต่างๆนำมาใช้เป็นอาหาร การทำฟาร์มสาหร่ายในทะเล มีการนำเทคโนโลยีเพื่อทำให้สาหร่ายเหล่านี้มีรูปลักษณ์ที่แตกต่างไปจากอดีต รสชาติเอร็ดอร่อยมากขึ้น ในเมื่อเทคโนโลยีอาหารพัฒนาเร็วถึงระดับนี้ วันหนึ่งในอนาคตคงไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง ความหลากหลายของอาหารที่มาจากเทคโนโลยีอาจช่วยให้การทำการเกษตรแนวเก่าหมดความนิยมไปเลยก็ได้ #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #อาหารอนาคต