พ.ศ.2565 ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพงาน APEC2022 สำหรับ 21 เขตเศรษฐกิจแถบเอเชียแปซิฟิก มีงานประกวดอาหารอนาคตเพื่อความยั่งยืน (APEC Future Foods for Sustainability) ตัดสินผลเป็นที่เรียบร้อยกลางเดือนธันวาคม 2565 ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศวฮ.) สำนักงานนครนายก (HICOLEC) ร่วมทีมกับบริษัท HolyFood จำกัด ส่งเมนู Plant-Based EggFast เข้าแข่งกับอีก 2017 ทีม ความโดดเด่นของเมนูอาหารของ ศวฮ. คือควบคุมการปนเปื้อนผลิตภัณฑ์จากสัตว์ผ่านระบบการมาตรฐานฮาลาล HAL-Q และตาราง H-number เพื่อยืนยันความเป็นมังสะวิรัติและฮาลาลอย่างสมบูรณ์ เมนูของ ศวฮ.ผ่านเข้ารอบ 21 ทีมสุดท้ายได้รับรางวัล Honourable Mention Award นับเป็นความสำเร็จของทีม ศวฮ.ประจำ พ.ศ.2565 ประเทศไทยตั้งเป้าจะเป็นประเทศเศรษฐกิจ BCG (Biology, Circular, Green Economy) หรือเศรษฐกิจชีวภาพ หมุนเวียน และสีเขียว ใช้โมเดล BCG พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมสู่ความยั่งยืน มีการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (Science, Technology and Innovation หรือ STI) เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนให้กับ 4 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curves) ได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมพลังงานและวัสดุ อุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ เมื่อประเทศไทยเดินไปในทิศทางนั้น ศวฮ.จึงตอบสนองโดยเน้นงาน Halal STI เป็นหลักในการดำเนินงานอาหารเพื่อความยั่งยืนเป็นเรื่องใหม่ ผู้คนในโลกยังไม่ค่อยเข้าใจนัก ทีมวิจัยนำโดยศาสตราจารย์ B.Whittall มหาวิทยาลัยบอร์นมัธ สหราชอาณาจักร สำรวจความคิดเห็นจากผู้บริโภคในอังกฤษ ตีพิมพ์ผลงานในวารสาร Appetite ต้นเดือนมกราคม 2023 ได้ข้อสรุปว่าคนหนุ่มสาวชาวอังกฤษยินดีที่จะเปลี่ยนมารับประทานอาหารเพื่อความยั่งยืน (Sustainable diet) เพียงแต่ไม่รู้ว่ามันคืออะไรและต้องทำอย่างไร มีอะไรที่ควรเปลี่ยนแปลงบ้าง ในเรื่องนี้องค์การสหประชาชาติเคยกำหนดนิยามไว้แล้วว่า “อาหารเพื่อความยั่งยืนคืออาหารที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำ ซึ่งนำไปสู่ความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการ และเพื่อสุขภาพที่ดีของคนรุ่นปัจจุบันและอนาคต” ในยุโรป 20-30% ของปัญหาสิ่งแวดล้อมมีต้นกำเนิดมาจากอาหาร ทั้งการผลิต การแปรรูป และการขาย พบด้วยว่าการบริโภคเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าอาหารจากพืช ทว่าคนส่วนใหญ่ไม่รู้ บางคนไม่ทันคำนึงถึงผลกระทบของการบริโภคอาหารต่อสิ่งแวดล้อมหรือโลกเสียด้วยซ้ำ ดังนั้นเมื่ออยากเปลี่ยนแปลงตนเองเพื่อช่วยรักษ์โลก แต่ละคนสับสนไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร ทีมวิจัยจึงแนะนำให้ภาคราชการและเอกชนร่วมกันสร้างความตระหนักรู้ (Awareness) ให้เกิดขึ้นแก่สาธารณชนอย่างเร่งด่วน #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #อาหารเพื่อความยั่งยืน, #Holyfood, #ศวฮ., #hicolec