อาหารขัดสีสูง โปรตีนต่ำ ก่อปัญหาโรคอ้วน

อาหารธรรมชาติให้คุณค่ามหาศาล ทว่าในทางอุตสาหกรรม อาหารธรรมชาติเหล่านี้มีสารบางชนิดที่สร้างความยุ่งยากต่อกระบวนการผลิต จึงจำเป็นต้องขจัดออก ในท้องตลาดทุกวันนี้จึงเต็มไปด้วยผลิตภัณฑ์อาหารขัดสีสูง (high processed foods หรือ refined foods) ที่ให้ใยอาหารต่ำ โปรตีนต่ำ สะดวกต่อการหุงต้ม และการย่อยสลายในทางเดินอาหาร เมื่อบริโภคนานเข้า ผลคือสารอาหารให้พลังงานเข้าสู่ร่างกายได้รวดเร็วก่อให้เกิดอุบัติการณ์โรคอ้วน (Obesity) นี่คือความรู้ที่เคยเล่าเรียนมาความไม่สมดุลของสารอาหารเช่นนี้ก่อปัญหาต่อสุขภาพ จำเป็นต้องหาทางแก้ไข แต่คงต้องทำให้มั่นใจก่อนว่าอาหารขัดสีสูง โปรตีนต่ำ วิตามินเกลือแร่ต่ำเหล่านั้นสร้างปัญหาต่อสุขภาพได้จริง งานศึกษาวิจัยจากทีมนำโดย ศาสตราจารย์เดวิด รอเบนไฮเมอร์ (David Raubenheimer) และดร.อะเมนดา เกรกช์ (Amanda Grech) แห่งศูนย์ Charles Perkins Centre (CPC) มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ตีพิมพ์ในวารสาร Obesity เดือนพฤศจิกายน ค.ศ.2022 ทำการศึกษาในอาสาสมัครจำนวน 9,341 คน ให้ผลการศึกษาที่น่าสนใจงานวิจัยพบว่าผลิตภัณฑ์อาหารจำนวนมากในท้องตลาดมีโปรตีนต่ำเนื่องจากถูกขัดสีออกให้เหลือน้อยที่สุด โปรตีนที่ขัดสีออกยังนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์โปรตีนสูงขายได้ราคาดีอีกต่างหาก วิธีคิดเช่นนี้เป็นผลให้ในท้องตลาดมีผลิตภัณฑ์ทั้งกลุ่มแป้งสูง โปรตีนต่ำ และกลุ่มผลิตภัณฑ์โปรตีนสูง รู้กันอยู่ว่าร่างกายจำเป็นต้องได้รับโปรตีนในปริมาณพอเหมาะเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อ ซ่อมแซมร่างกาย และป้องกันโรค ทว่าผลิตภัณฑ์ในท้องตลาดจำนวนมากให้พลังงานสูง โปรตีนต่ำ ดังนั้น การบริโภคอาหารประจำวันโดยไม่เสริมโปรตีน ร่างกายย่อมได้รับโปรตีนน้อยลง ร่างกายจำเป็นต้องปรับตัวโดยบริโภคมากขึ้น ซึ่งตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจ อาหารตะวันตกหรืออาหารที่พัฒนาตามแนวทางโลกตะวันตกจึงเต็มไปด้วยผลิตภัณฑ์โปรตีนต่ำที่ก่อปัญหาเช่นนี้ งานการศึกษาในประชากรของทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์พบว่าอาสาสมัครที่ได้รับผลิตภัณฑ์อาหารโปรตีนต่ำ ร่างกายเกิดแรงขับทำให้เกิดความต้องการบริโภคอาหารมากขึ้น เพื่อให้ได้รับโปรตีนมากพอกับความต้องการ ผลที่ตามมาคือร่างกายได้รับพลังงานมากขึ้นอันก่อให้เกิดโรคอ้วนตามมา การศึกษาวิจัยชิ้นนี้จึงอธิบายปัญหาของโรคอ้วนในอีกมิติหนึ่ง จากที่เคยรู้ว่าน้ำตาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งฟรุคโตสส่งผลต่อภาวะดื้อต่อฮอร์โมนอิ่มหรือเล็พตินที่เข้าไปกระตุ้นจุดอิ่ม (Satiety center) ในสมอง รู้กลไกการเกิดโรคอ้วนไว้หลายๆกลไกย่อมให้ประโยชน์ต่อการป้องกันโรคอ้วนได้แน่นอน #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #อาหารโปรตีนต่ำ, #โรคอ้วน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *