อาหรับ-เบอร์เบอร์ มุสลิมผู้สร้างอารยธรรมอิสลามในสเปน ตอนที่ 77

สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอาณาจักรต่างๆทั้งคริสต์และมุสลิมในไอบีเรียช่วงศตวรรษที่ 8-15 ไม่ต่างจากสถานการณ์ในคาบสมุทรสุวรรณภูมิช่วงศตวรรษที่ 14-18 สักเท่าไหร่ เวลานั้นความเป็นรัฐชาติยังไม่เกิด ความขัดแย้งจึงเป็นเรื่องระหว่างอโยธยากับหงสาวดีหรืออังวะ ความรู้สึกว่าเป็นชาติไทย ชาติพม่ายังไม่มี ทหารที่รบในทั้งสองกองทัพจึงมีทั้งไทยและพม่า สถานการณ์ในไอบีเรียไม่ต่างกัน ดังนั้น เมื่ออาณาจักรที่เข้มแข็งที่สุดคือคอร์โดบาล่มสลายลงใน ค.ศ.1031 อาณาจักรหรือไทฟาที่เคยขึ้นกับคอร์โดบาจึงแตกออกมามากมาย 20-50 ไทฟา ต่างทำศึกกันเองเพื่อช่วงชิงความเป็นใหญ่ อาณาจักรคริสเตียนเวลานั้นก็ประพฤติไม่ต่างกัน นี่คือบรรยากาศในเวลานั้น ความเข้าใจว่าเป็นเรื่องสงครามครูเสดแห่งไอบีเรียจึงไม่ถูกต้อง เป็นเรื่องรีคองเกสตาหรือการทวงคืนดินแดนเสียมากกว่า ความรู้สึกแรงกล้าว่าเป็นคริสต์หรือมุสลิมล้วนเกิดขึ้นในภายหลังเมื่อกองทัพอัลโมฮัดถอนตัวจากไอบีเรียใน ค.ศ.1228 อาณาจักรไทฟาขนาดเล็กแตกแยกอีกครั้ง อิบนฺ อัลอะฮฺมัร ขุนศึกแห่งไทฟามะละกา (Malaga) ที่ควบคุมเมืองแจน (Jaen) อัลมีเรีย (Almearia) อัรโชนา (Arjona) ใช้โอกาสแห่งความระส่ำระสายนำกำลังบุกยึดคอร์โดบา (Cordoba) และบาเลนเซีย (Valencia) ทว่ากลับสูญเสียให้ไทฟาอื่นอีกครั้ง จึงเข้าร่วมกับอาณาจักรคาสติล (Castile) ยึดทั้งสองเมืองนั้นคืนในภายหลัง นี่คือตัวอย่างที่ว่าความรู้สึกถึงความเป็นมุสลิมหรือคริสเตียนเวลานั้นยังไม่เกิดขึ้น ความยืดหยุ่นในนโยบายของอิบนฺ อัลอะฮฺมัร เช่นนี้เองที่มีส่วนอย่างสำคัญทำให้เอมิเรตกรานาดาจัดตั้งขึ้นได้ใน ค.ศ.1237 โดยร่วมเป็นพันธมิตรกับคาสติล-ลีออน ซึ่งเป็นอาณาจักรคริสเตียนที่เข้มแข็งที่สุดในเวลานั้น อิบนฺ อัลอะฮฺมัร สถาปนาตนเองขึ้นเป็นสุลต่าน “มุฮัมมัดที่ 1” (Muhammad I) แห่งราชวงศ์นาสริด (Nasrid) ปกครองไทฟาอัรโชนา ใน ค.ศ.1232 จากนั้นจึงรวมทัพเข้ากับคาสติล-ลีออนเข้ายึดกรานาดาและคอร์โดบาใน ค.ศ.1236 คาสติล-ลีออนได้เมืองคอร์โดบาไว้ ขณะที่นาสริดยึดกรานาดาเป็นเมืองหลวงของตนเอง ช่วยให้สถาปนาเอมิเรตแห่งกรานาดาขึ้นได้ในปีต่อมา ความเป็นพันธมิตรระหว่างกรานาดากับคาสติล-ลีออน ดำรงอยู่ไม่ยืนยาวนัก ถึง ค.ศ.1244 คาสติล-ลีออนกับกรานาดาต้องทำศึกกันเอง เมื่อกลายเป็นว่าฝ่ายแรกต้องการเมืองอัรโชนาของกรานาดา สองปีต่อมากรานาดายังต้องสูญเสียเมืองแจนไปอีก นับจาก ค.ศ.1248-1269 รัฐคริสเตียนทั้งสี่ต่างรุกชิงพื้นที่ไทฟาต่างๆ กระทั่งสุดท้ายเหลือรอดเฉพาะกรานาดาเท่านั้น การผูกมิตรกับคาสติล-ลีออนโดยยอมจ่ายบรรณาการเริ่มไม่เป็นผล สิ่งที่ปกป้องกรานาดาไว้คือกำแพงเมืองที่แข็งแกร่ง อันเป็นวิธีการเดียวกับการที่อาณาจักรไบแซนไทน์ใช้รักษาคอนสแตนติโนเปิลไว้ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน เรื่องราวของสองอาณาจักรคือไบแซนไทน์ของคริสต์ออร์โธดอกที่ป้องกันตนเองจากมุสลิมเติร์กในคาบสมุทรอะนาโตเลียช่วง ค.ศ.1299-1453 และกรานาดาของมุสลิมอาหรับที่ปกป้องตนเองจากคริสต์คาธอลิกในคาบสมุทรไอบีเรียช่วง ค.ศ.1237-1492 ช่างคล้ายคลึงกันจนน่าแปลกใจ #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #มุสลิมสเปน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *