ค.ศ.1228 กองทัพอัลโมฮัดตัดสินใจถอนออกจากอันดาลุสกลับไปยังดินแดนมัฆริบที่กำลังประสบปัญหาหนัก เป็นผลให้ตลอดระยะเวลายี่สิบปีหลังจากนั้น อาณาจักรมุสลิมในสเปนทยอยสูญเสียดินแดนแก่อาณาจักรคริสเตียนที่รุกกินพื้นที่ลงมา สุดท้ายมีเพียงไทฟากรานาดาที่เหลือดินแดนให้ดูแลเพียงหนึ่งในสามของอาณาจักรมุสลิมที่เคยมีอยู่ทั้งหมด ผู้ปกครองไทฟากรานาดามีกุศโลบายที่ยืดหยุ่นพอจะรักษาแผ่นดินของตนเองไว้กระทั่งสามารถอยู่รอดต่อไปได้อีกนานกว่าสองศตวรรษครึ่ง โดยสิ้นสุดลงใน ค.ศ.1492 อย่างที่รู้กันภาวะวิกฤติที่สุดของอาณาจักรมุสลิมสเปนจึงเป็นช่วงเวลาระหว่าง ค.ศ.1228-1248 ความเพลี่ยงพล้ำของมุสลิมในไอบีเรียช่างตรงกันข้ามกับสถานการณ์ในตะวันออกกลางซึ่งสงครามครูเสดครั้งที่ห้าเพิ่งสิ้นสุดลงใน ค.ศ.1221 อาณาจักรคริสเตียนจากยุโรปกลับเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำ เป็นผลให้สันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 4 ส่งคณะผู้แทนไปเชิญชวนอาณาจักรมองโกลให้เป็นพันธมิตรร่วมต่อต้านโลกมุสลิม ความล้มเหลวจากสงครามในตะวันออกกลางเป็นผลให้บรรดาอัศวินครูเสดหลั่งไหลกลับยุโรป จำนวนไม่น้อยอาสาอาณาจักรคริสเตียนในไอบีเรียทำสงครามกับอาณาจักรมุสลิม ความเข้าใจที่ว่าสงครามในไอบีเรียคือส่วนหนึ่งของสงครามครูเสดในตะวันออกกลางเกิดขึ้นช่วงเวลานี้เอง ในขณะที่นักประวัติศาสตร์ในโลกมุสลิมกลับมิได้เข้าใจเช่นนั้น มีหลายเหตุผลที่นักประวัติศาสตร์มุสลิมกับนักประวัติศาสตร์ยุโรปมองสงครามในไอบีเรียหรือแม้กระทั่งในตะวันออกกลางด้วยทัศนคติที่แตกต่างกัน การเป็นสงครามศาสนาของสงครามครูเสดเป็นผลมาจากการประกาศเชิญชวนของสันตปาปาเออร์บันที่ 2 (Pope Urban II) แห่งกรุงโรมในวันที่ 27 พฤศจิกายน ค.ศ.1095 ให้รัฐคริสเตียนในยุโรปรวมตัวกันทวงแผ่นดินปาเลสไตน์ซึ่งถือเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์คืนจากรัฐมุสลิมในตะวันออกกลางอันเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามครูเสดครั้งที่ 1 ทว่าเมื่อพิจารณาในพื้นที่ไอบีเรีย เมื่ออันดาลุสแตกสลายเป็นหลายไทฟาใน ค.ศ.1031 อาณาจักรคริสเตียนทางเหนืออยู่ในสภาพที่แตกแยกกันเอง ไม่ต่างกันกองทัพทั้งสองฝ่ายในไอบีเรียต่างมีทหารทั้งคริสเตียนและมุสลิมร่วมรบอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น เอลซิด (El Cid) ซึ่งเป็นฮีโร่ในสงครามระหว่างคาสติลกับอันดาลุสช่วงปลายศตวรรษที่ 11 มีบันทึกว่าเคยรบให้กับฝ่ายมุสลิมมาก่อนหน้านั้น ความสำนึกถึงความเป็นคริสเตียนหรือมุสลิมทำสงครามศักดิ์สิทธิ์ระหว่างกันในเวลานั้นยังไม่เกิดขึ้น ช่วงเวลาของโลกยุคกลางทั้งในยุโรป อัฟริกาหรือแม้กระทั่งเอเชีย เต็มไปด้วยทหารรับจ้าง (Mercenary) อันเป็นอาชีพปกติ จึงพบเห็นทั้งคริสเตียนและมุสลิมทำหน้าที่รบให้กับทั้งสองฝ่าย เหล่านี้อาจเป็นเหตุผลว่าเหตุใดในโลกมุสลิมจึงไม่ใส่ใจประเด็นสงครามครูเสดในเชิงสงครามศาสนามากนัก หากดูภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดเรื่อง “เอลซิด” เห็นได้ว่าเน้นความสำคัญกับการเป็นสงครามศาสนาค่อนข้างมาก ทั้งที่เวลานั้นช่วงปลายศตวรรษที่ 11 ความเป็นสงครามศาสนายังไม่เกิด ดูภาพยนตร์แล้วจึงคลับคล้ายว่าสงครามศาสนาถูกสร้างขึ้นโดยฝ่ายธุรกิจของฮอลลีวู้ด เข้าใจได้อย่างนั้นจริงๆ #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #มุสลิมสเปน