ดินแดนมัฆริบหรืออัฟริกาตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือคือถิ่นที่อยู่ของกลุ่มชนอะมาซิกฮฺ (Amazigh) ชนหลายเผ่ากลุ่มนี้เคยอยู่ใต้การปกครองของโรมันซึ่งเรียกชนกลุ่มนี้ว่าเบอร์เบอร์ (Berbers) เมื่อศาสนาคริสต์เผยแผ่เข้ามา ชนเบอร์เบอร์หลายกลุ่มเข้ารับศาสนาคริสต์ ปลายศตวรรษที่ 7 อิสลามเผยแผ่เข้ามาโดยชนอาหรับ ชนเบอร์เบอร์ส่วนใหญ่เปลี่ยนมารับอิสลาม ยินยอมจ่ายภาษี จ่ายบรรณาการให้ผู้ปกครองอาหรับโดยมีเงื่อนไขว่าขอใช้วัฒนธรรมประเพณีของตนเอง กลางศตวรรษที่ 8 ความขัดแย้งทางการเมืองในโลกอาหรับแทรกซึมเข้ามาในดินแดนมัฆริบพร้อมกับการเข้ามาของกลุ่มเคาะวาริจญฺซึ่งขัดแย้งกับราชวงศ์อุมัยยะฮฺ ผลที่ตามมาคือการปลุกปั่นกระทั่งเกิดการลุกฮือต่อต้านการปกครองของชนอาหรับในพื้นที่ปลายศตวรรษที่ 9 แนวคิดชีอะฮฺกลุ่ม 12 อิหม่ามเผยแผ่เข้ามานำไปสู่การล้มล้างการปกครองของอาหรับ และการสร้างรัฐคอลีฟะฮฺฟาติมิดขึ้นตอนต้นศตวรรษที่ 10 ปกครองดินแดนมัฆริบครอบคลุมไปตลอดอัฟริกาเหนือ จักรวรรดิฟาติมิดเรืองอำนาจอยู่ระยะหนึ่งก่อนที่รัฐคอลีฟะฮฺคอร์โดบาจากไอบีเรียจะนำทัพลงมาขับไล่ต้องถอยร่นไปทางตะวันออกถึงอียิปต์และปักหลักอยู่แถบนั้น การมีหลายแนวคิดอิสลามในพื้นที่ได้สร้างความสับสนให้กับประชาชนเป็นผลให้นักวิชาการอิสลามสายมาลิกีคือ ยะฮฺยา อิบนฺ อิบราฮิม จัดตั้งกลุ่มอัลโมราวิดขึ้นกลางศตวรรษที่ 11 ที่เติบโตขึ้นกระทั่งนำไปสู่การสร้างราชวงศ์ปกครองพื้นที่มัฆริบใน ค.ศ.1060 ต่อมาใน ค.ศ.1086 ไทฟามุสลิมร้องขอให้กองทัพอัลโมราวิดเข้าไปช่วยเหลือต่อสู้กับกองทัพคริสเตียนในไอบีเรีย ความช่วยเหลือของอัลโมราวิดในไอบีเรียแม้ประสบผลสำเร็จสูง ทว่าความไม่สงบในดินแดนมัฆริบเป็นผลให้ทัพอัลโมราวิดต้องถอนกำลังออกก่อนนำกลับเข้าไปใหม่ เป็นเช่นนี้หลายครั้ง กระทั่งกลางศตวรรษที่ 12 กบฏกลุ่มใหม่คืออัลโมฮัดสามารถล้มราชวงศ์อัลโมราวิดลงได้ เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สร้างผลกระทบต่อความมั่นคงของอันดาลุสถึงขนาดสูญเสียดินแดนไปทีละไทฟา ปลายราชวงศ์อัลโมฮัด อันดาลุสเหลือพื้นที่ปกครองรวมกันไม่ถึงหนึ่งในสาม ปัญหาการกบฏในดินแดนมัฆริบสร้างผลกระทบใหญ่หลวงต่อการคงอยู่ของอาณาจักรอันดาลุสในไอบีเรีย จึงสมควรทำความเข้าใจกับปัญหากบฏกันบ้างประเทศโมรอคโคปัจจุบันเดิมเป็นดินแดนมัฆริบที่มีมหาอำนาจจากภายนอกสลับสับเปลี่ยนกันเข้ามาปกครอง ภายใต้การปกครองของอาหรับมีศูนย์กลางอยู่ที่มณฑลอิฟริฆายะฮฺ เมืองหลักคือฆอยรูน (Kairouan) การเข้ามาของแนวคิดเคาะวาริจญฺส่งผลให้ชนเบอร์เบอร์ก่อกบฏต่อการปกครองของชนอาหรับ ลุกลามไปจนกระทั่งดินแดนมัฆริบในพื้นที่ที่เป็นโมรอคโคและอัลจีเรียในปัจจุบันแตกออกเป็นหลายเสี่ยง เป็นต้นว่า บาร์ฆาวาตา (Barghawata ค.ศ.744–1058) ซิจิลมาซา (Sijilmasa ค.ศ.757 – 976) เนกอร์ (Nekor ค.ศ.710–1019) แต่ละเสี่ยงนำแนวคิดอิสลามไปประยุกต์ใช้กันเอง ในเชิงบวก สร้างสมประสบการณ์เป็นผลให้ชนเบอร์เบอร์สามารถสร้างราชวงศ์ขึ้นมาปกครองกันเองได้ เกิดเป็นอัลโมราวิด อัลโมฮัด และอื่นๆ ดังที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #มุสลิมสเปน