สงครามครูเสด (Crusade wars) ที่รู้จักกันทั่วไปหมายถึงสงครามที่กองทัพคริสเตียนจากหลายอาณาจักรในยุโรปทำศึกกับกองทัพมุสลิมในตะวันออกกลางเพื่อแย่งชิงนครเยรูซาเล็มในปาเลสไตน์กินเวลาจาก ค.ศ.1095 ถึง 1271 ยาวนานเกือบสองศตวรรษ อย่างไรก็ตาม ในระยะหลังนักวิชาการยุโรปได้รวมสงครามระหว่างคริสเตียนและมุสลิมในไอบีเรียที่ในภาษาสเปนเรียกว่า “รีคองเกสตา” (Reconquesta) เข้าไปไว้ในสารบบของสงครามครูเสดด้วย เป็นสงครามที่นับกันตั้งแต่ ค.ศ.722 ไปสิ้นสุดใน ค.ศ.1492 ยาวนานเกือบแปดศตวรรษ ชาวยุโรปเห็นว่าสงครามครูเสดเกิดขึ้นทั้งในตะวันออกกลางและไอบีเรีย ขณะที่ในโลกมุสลิมกลับมีบันทึกค่อนข้างน้อยที่กล่าวถึงสงครามครูเสดในลักษณะสงครามศาสนา นักวิชาการมุสลิมหลายกลุ่มเห็นว่านั่นคือสงครามการเมือง โดยสงครามครูเสดในตะวันออกกลางหลายครั้งเป็นการศึกระหว่างคริสเตียนด้วยกัน ทหารที่ร่วมกับสองฝ่ายมีทั้งนักรบคริสเตียนและมุสลิม สงครามรีคองเกสต้าในไอบีเรียก็ไม่ต่างกัน ทหารทั้งสองฝ่ายมีทั้งคริสเตียน มุสลิม ยิว และศาสนิกอื่น ในศึกครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นระหว่างยูซุฟ อิบนฺ ตัชฟิน กับกษัตริย์อัลฟองโซที่ 6 ใน ค.ศ.1086 มีทหารคริสเตียนและมุสลิมอยู่ในทั้งสองทัพ คริสเตียนในทัพของยูซุฟส่วนใหญ่คือทหารรับจ้าง ขณะที่มุสลิมในทัพรีคองเกสต้ามีจำนวนน้อย ส่วนใหญ่เป็นทหารจากไทฟาที่เป็นปฏิปักษ์กับอัลโมราวิดยูซุฟ อิบนฺ ตัชฟิรนำทัพอัลโมราวิดที่มีกำลังพลสามหมื่นนาย ประกอบด้วยทหารราบ ทัพม้าและอูฐจากอัฟริกา ส่วนใหญ่เป็นชนอัฟริกันผิวดำ สวมชุดทหารคลุมขนสัตว์แบบอัฟริกันพกกริช หอกยาว ดาบโค้งอาหรับ เดินทัพด้วยเสียงกลองศึกเพื่อปลุกใจ กษัตริย์อัลฟองโซที่ 6 นำทัพรีคองเกสต้าประกอบด้วยทหารราบ กับทัพม้าสวมชุดเกราะโลหะแบบอัศวินยุโรปยุคนั้น กำลังพลรวมกันเกือบแปดหมื่นนายมากกว่าทัพอัลโมราวิดกว่าสองเท่า การศึกใน ค.ศ.1086 ครั้งนั้น นักประวัติศาสตร์ยุโรปเรียกว่าการยุทธแห่งซากราจาส (Battle of Sagrajas) ขณะที่นักประวัติศาสตร์อาหรับเรียกว่า “ศึกพื้นลื่น” หรือ “มัจรอเกาะฮฺ อัซซัลลาเกาะฮฺ” ( معركة الزلاقة Battle of Zallaga) เรียกกันอย่างนั้นเนื่องจากพื้นแผ่นดินนองไปด้วยเลือดที่ทำให้ทหารแทบยืนกันไม่ได้ก่อนการศึกพื้นลื่นใน ค.ศ.1086 กษัตริย์อัลฟองโซ่ที่ 6 สร้างชื่อระบือลั่นให้ไทฟามุสลิมได้เห็นในหลายต่อหลายศึกกระทั่งสามารถเข้ายึดไทฟาโทเลโดที่แข็งแกร่งที่สุดของมุสลิมไว้ได้ใน ค.ศ.1085 ทางไทฟาเห็นว่าการปล่อยให้กองทัพคริสเตียนฮึกเหิมในขณะที่ไทฟาท้อถอยย่อมไม่เป็นผลดี ใน ค.ศ.1086 นั้นเอง อัลฟองโซ่ที่ 6 เมื่อใกล้เผด็จศึกไทฟาซาราโกซา (Zaragoza) ทางตอนเหนืออยู่รอมร่อ กลับได้ยินข่าวการมาถึงของกองทัพอัลโมราวิดเห็นว่าเป็นทัพใหญ่จึงเรียกระดมพลอาณาจักรคริสเตียนที่อยู่โดยรอบ ทั้งบาเลนเซีย (Valencia) อารากอน รวมถึงอัศวินจากเบอร์กันดี ฝรั่งเศส ที่นำทัพมาช่วยในช่วงเวลานั้น ครั้งนั้นจึงเป็นครั้งแรกที่ทัพอัศวินยุโรปผิวขาวสวมเกราะจะได้เห็นฝีมือนักรบมัวร์ผิวคล้ำ สวมเสื้อผ้าธรรมดา คลุมด้านนอกด้วยขนสัตว์ เมื่อพิจารณาทั้งจำนวนและคุณภาพกองทัพทั้งสองฝ่ายแล้ว ทัพมุสลิมคงต้านทานได้ไม่กี่น้ำ อัลฟองโซ่ที่ 6 คิดไว้อย่างนั้น #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #มุสลิมสเปน