อาหรับ-เบอร์เบอร์ มุสลิมผู้สร้างอารยธรรมอิสลามในสเปน ตอนที่ 47

ย้อนมาว่ากันด้วยเรื่องชน “เบอร์เบอร์” (Berbers) อีกครั้ง ชนกลุ่มนี้คือประชากรหลักในอัฟริกาเหนือและตะวันตก คนจำนวนไม่น้อยเข้าใจว่าชนกลุ่มนี้คืออาหรับเนื่องจากเป็นชนมุสลิมที่พูดภาษาอาหรับ แต่ในเชิงมานุษยวิทยา และชีววิทยา ชนกลุ่มนี้มิใช่อาหรับ โดยเข้ารับอิสลามและรับวัฒนธรรมอาหรับในช่วงศตวรรษที่ 7-8 คนยุโรปหรือชนโรมันในอดีตเรียกชนกลุ่มนี้ว่าเบอร์เบอร์ซึ่งเป็นชื่อที่ชนกลุ่มนี้ไม่พอใจนักเนื่องจากมีที่มาจากคำว่าบาร์บาเรียน (Barbarian) ที่หมายถึงชนป่าเถื่อน ชนกลุ่มนี้เรียกตนเองว่า “อะมาซิกฮฺ” (Amazigh) หรืออะมาซิเกน (Amazighen) หรืออิมาซิกฮฺ (Imazigh) ซึ่งหมายถึงชนอิสระ ชนอะมาซิกฮฺหรือเบอร์เบอร์มีอยู่หลายกลุ่ม ใช้ภาษาที่มีรากเดียวกัน ยึดถือวัฒนธรรมเดียวกัน เบอร์เบอร์ที่เข้าสู่อันดาลุสกลุ่มแรกช่วงศตวรรษที่ 8 มาจากอัฟริกาเหนือ ผิวขาว บุคลิกคล้ายชนอาหรับ เบอร์เบอร์ที่เข้าสู่อันดาลุสช่วงศตวรรษที่ 10 มาจากอัฟริกาตะวันตกแถบโมรอคโค ผิวออกน้ำตาลแดงแตกต่างออกไป ขณะที่ชนเบอร์เบอร์กลุ่มสุดท้ายมาจากอาณาจักรอันโมราวิด (Almoravid) ที่มีพื้นเพจากอัฟริกาตะวันตกแถบซาฮารา มีผิวคล้ำ ชนเบอร์เบอร์ที่กลายเป็นประชากรหลักของอันดาลุสจึงมีหลากหลาย อันดาลุสกลายเป็นดินแดนแห่งความแตกต่าง มีทั้งชนเบอร์เบอร์หรืออะมาซิกฮฺ ชนอาหรับ ชนสลาฟ ชนยุโรปที่มีมากมายหลายกลุ่ม ย้อนกลับไปในช่วงเวลาที่ราชวงศ์อุมัยยะฮฺล่มสลายใน ค.ศ.1031 บรรดาไทฟาต่างๆพากันประกาศความเป็นอิสระ หลังจากนั้นเป็นเวลายาวนานกว่าครึ่งศตวรรษที่อันดาลุสเกิดความระส่ำระสาย เกิดสงครามย่อยระหว่างไทฟากับไทฟา ระหว่างไทฟากับอาณาจักรคริสเตียน บางครั้งไทฟาร่วมกับอาณาจักรคริสเตียนทำศึกกับอีกอาณาจักรคริสเตียนหนึ่ง บางครั้งอาณาจักรคริสเตียนทำศึกระหว่างกันเอง หาความสุขสงบไม่ได้ ถึง ค.ศ.1086 ผู้ปกครองหรืออะมิรของสองสามไทฟาขอเข้าเฝ้าสุลต่านยูซุฟ อิบนฺ ตัชฟิน (Yusuf ibn Tashfin) แห่งราชวงศฺอัลโมราวิด (Almoravid) ในโมรอคโค เมืองหลวงเวลานั้นคือมาร์ราเกช (Marrakesh) เพื่อขอความช่วยเหลือ สุลต่านตอบสนองโดยนำทัพจากโมรอคโคเข้าสู่อันดาลุส ทำศึกได้ชัยชนะต่อกษัตริย์อัลฟองโซที่ 6 แห่งเลออนและคาสติล เป็นผลให้ไทฟาทั้งหลายรอดพ้นจากการพ่ายแพ้ไปได้อย่างน้อยระยะเวลาหนึ่งก่อนที่จะกล่าวถึงบทบาทอื่นๆของสุลต่านยูซุฟ อิบนฺ ตัชฟิน สมควรรู้จักอาณาจักรและราชวงศ์อัลโมราวิดกันก่อน ราชวงศ์นี้มีชื่อในภาษาอาหรับว่า “อัลมุรอบิฏุน” (المرابطون‎, Al-Murabitun) เสียงตัว b ในภาษาสเปนใช้อักษร v แทน จึงเขียนว่า Almoravid โดยอ่านว่าอัลโมราบิด อย่างไรก็ตาม ในวงวิชาการที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นส่วนใหญ่ เมื่อเขียนว่า Almoravid จึงอ่านออกเสียงตามภาษาอังกฤษว่าอัลโมราวิดและนิยมเรียกกันเช่นนั้นมานานกระทั่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไป ประเด็นการอ่านนี้กลับแตกต่างจากชื่อเมืองคอร์โดบาที่มีชื่อในภาษาอาหรับว่า Qurtubah ถอดเป็นภาษาสเปนได้ว่า Cordova อ่านว่าคอร์โดบา ในกรณีนี้ การเขียนทั่วไปเมื่อใช้ภาษาอังกฤษ นิยมเขียนว่า Cordoba และอ่านว่าคอร์โดบา กลายเป็นอย่างนั้น #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน,#มุสลิมสเปน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *