อาหรับ-เบอร์เบอร์ มุสลิมผู้สร้างอารยธรรมอิสลามในสเปน ตอนที่ 24

ปลายเดือนเมษายน ค.ศ.711 ตอริฆ อิบนฺ ซิยาด นำทัพเบอร์เบอร์-อาหรับขึ้นฝั่งทางตอนปลายคาบสมุทรไอบีเรีย ในพื้นที่ที่เวลานั้นเรียกว่ามอนส์คาลปี (Mons Calpe) ภายหลังจึงเปลี่ยนชื่อเป็นยิบรอลตาร์ (Gibraltar) ตอริฆรู้กิตติศัพท์ความหาญกล้าของนักรบวิสิกอธเป็นอย่างดี รู้ด้วยว่าทหารของตนก็เป็นนักรบชั้นยอด ทั้งรู้อีกว่าทหารในกองทัพวิสิกอธมีนับจำนวนแสน มากกว่ากำลังพลของตนชนิดสิบต่อหนึ่ง ชัยชนะเกิดขึ้นได้หากเร่งทำศึกอย่างรวดเร็ว กล่าวกันว่าตอริฆสั่งให้เผาเรือทั้งหมดเพื่อกดดันทหารเบอร์เบอร์ในกองทัพว่าหากไม่ได้รับชัยชนะก็อย่าหวังจะได้กลับไปที่แทนเจียร์อีกข่าวการขึ้นฝั่งของทัพเบอร์เบอร์-อาหรับไปถึงกษัตริย์โรเดอริกอย่างรวดเร็ว เวลานั้นโรเดอริกนำทัพวิสิกอธขึ้นไปทำศึกทางเหนือในเขตพื้นที่ของชนบาสค์ (Basque) ที่ก่อกบฏ เมื่อรู้ข่าวจึงนำทัพย้อนกลับลงมาถึงเดือนกรกฎาคม ค.ศ.711 โรเดอริกเดินทางถึงพื้นที่ลุ่มแม่น้ำกัวดาลีต (Guadalete) ใกล้เมืองเมดินา สิโดเนีย (Medina Sidonia) ซึ่งทัพของตอริฆรออยู่ ทัพตอริฆแม้มีกำลังพลน้อยกว่าทว่าทำการรุกรบอย่างรวดเร็ว โจมตีใส่ทัพวิสิกอธที่ยังคงเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทางไกล การรบเป็นไปอย่างดุเดือด โรเดอริกถูกสังหาร การศึกแห่งลุ่มน้ำกัวดาลีต (Battle of Guadalete) ครั้งนั้นทำเอากองทัพวิสิกอธแตกพ่ายอย่างไม่น่าเชื่อในปีต่อมา มูซา อิบนฺ นูเซร เมื่อได้รับข่าวชัยชนะของตอริฆจึงนำทัพอาหรับ-เบอร์เบอร์จำนวน 15,000 นายข้ามช่องแคบตามเข้าไปสมทบ เริ่มที่การเข้ายึดเมืองเมริดา (Merida) ก่อนสองทัพพบกันที่เมืองโทเลโด (Toledo) ใน ค.ศ.713 มีข่าวกล่าวถึงความสัมพันธ์เชิงลบระหว่างตอริฆและมูซา บ้างว่าเมื่อพบกันครั้งแรกมูซาแสดงความไม่พอใจตอริฆอย่างมาก และนั่นเองที่กลายเป็นข่าวรายงานไปยังดามัสกัสถึงคอลีฟะฮฺอัลวาลิดที่ 1 ทั้งคู่จึงถูกเรียกตัวกลับไปที่ดามัสกัสใน ค.ศ.714 เวลานั้นกองทัพมุสลิมเข้าควบคุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของไอบีเรียได้แทบหมดแล้ว เมืองหลวงในช่วงต้นตั้งไว้ที่เมืองโทเลโด (Toledo) ก่อนย้ายไปสู่เมืองคอร์โดบา (Cordoba) โดยตั้งชื่ออาณาจักรใหม่ของมุสลิมที่เกิดขึ้นว่า “อัลอันดาลุส” (الأَنْدَلُس Al Andalus) ชะตากรรมของทั้งตอริฆและมูซาที่ต้องเดินทางกลับไปที่ดามัสกัสในซีเรียเคยเขียนถึงไปแล้ว ส่วนที่น่าสนใจคือการสร้างสังคมใหม่ขึ้นในดินแดนอันดาลุสซึ่งแต่เดิมในสังคมวิสิกอธ คละไปด้วยชาวยิว คริสเตียน ผู้คนในความเชื่ออื่น รวมทั้งทาสที่ไม่มีสถานะทางสังคม การเข้ามาของอิสลามทำให้สถานะทางสังคมของคนเหล่านั้นดีขึ้น ทว่ากลับเป็นมุสลิมด้วยกันเองที่เกิดความเหลื่อมล้ำ ชนเบอร์เบอร์และมัวร์ที่เรียกตนเองว่า “อิมาซิกฮฺ” (Imazhigh) หรือ “อะมาซิกฮฺ” (Amazigh) ที่เป็นทหารส่วนใหญ่ของตอริฆและนำชัยชนะมาให้มุสลิมรวมถึงกลุ่มที่หลั่งไหลเข้ามาในภายหลังกลับกลายเป็นผู้อยู่ใต้การปกครองของชนอาหรับที่เข้ามากับมูซาใน ค.ศ.712 และกับแม่ทัพบัลจฺ อิบนฺ บิชัร (بَلْج بن بِشْر Balj ibn Bishar) ใน ค.ศ.740 ความไม่เท่าเทียมกันตามแนวทางอาหรับมาก่อนที่เกิดขึ้นในยุคอุมัยยะฮฺได้สร้างรอยแผลแห่งความขัดแย้งที่เพียงรอวันปะทุในอนาคตเท่านั้น

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *