ปลายทะเลเมดิเตอร์เรเนียนทางทิศตะวันตกเป็นเขตที่ติดต่อกับมหาสมุทรแอตแลนติก บริเวณนี้เป็นช่องแคบที่ส่วนที่แคบที่สุดมีความกว้างเพียง 14.4 กิโลเมตร แบ่งสองทวีปคืออัฟริกาทางตอนเหนือและยุโรปทางตอนใต้ออกจากกัน โดยอัฟริกาเหนือเวลานี้เป็นประเทศโมรอคโค ขณะที่ยุโรปคือประเทศสเปน ช่องแคบนี้ในอดีต 218 ปีก่อนคริสตกาล ฮานนิบาล (Hannibal Barca) (247-183/181 ปีก่อนคริสตกาล) นำกองทัพช้างจากนครคาร์เทจ (Carthage) ซึ่งเป็นนครรัฐโบราณตั้งอยู่ใกล้กรุงตูนิส เมืองหลวงของประเทศตูนีเซียในปัจจุบัน ข้ามทะเลเข้าสู่ยุโรปข้ามเทือกเขาแอลป์ (Alp) อ้อมเข้าตีกรุงโรม (Rome) สร้างประวัติศาสตร์ขึ้นชื่อลือลั่นมาแล้วช่องแคบนี้มีชื่อว่า “ช่องแคบยิบรอลตาร์” (Gibraltar) มีเรือเฟอร์รีข้ามจากเมืองทันเจียร์ (Tangier) ของโมรอคโคเชื่อมไปที่เมืองยิบรอลตาร์ซึ่งเป็นดินแดนในเขตประเทศสเปนทว่าอังกฤษยึดครองไว้ตั้งแต่ ค.ศ.1713 ระยะทาง 89.5 กิโลเมตร ใช้เวลาข้ามฟาก 2 ชั่วโมง 48 นาที ใกล้เคียงกับการนั่งเรือเฟอร์รีจากท่าเรือดอนสัก สุราษฎร์ธานีข้ามไปที่ท่าเรือหน้าทอนของเกาะสมุยซึ่งห่างออกไป 57.6 กิโลเมตร ใช้เวลา 2 ชั่วโมง 12 นาที นั่งเรือไม่ทันเบื่อก็ถึงแล้ว ช่องแคบยิบรอลตาร์จึงแคบได้สมชื่อ ใช้เป็นเส้นทางติดต่อตั้งแต่ยุคโบราณจนถึงปัจจุบันยิบรอลตาร์เป็นชื่อที่แปลงมาจากภาษาอาหรับที่มีชื่อว่า “จาบัล อะลา อัฏฏอริก” หมายถึงภูเขาของฏอริก เรียกย่อสั้นๆว่ายิบรอลตาร์ เหตุที่มีชื่อนี้เนื่องจากใน ค.ศ.711 แม่ทัพชาวเบอร์เบอร์ (Berber) จากอัฟริกาเหนือที่มีชื่อว่าฏอริก อิบนฺ ซิยาด (Tariq ibn Ziyad) ซึ่งเป็นนายทหารในสังกัดกองทัพคอลีฟะฮฺราชวงศ์อุมัยยะฮฺ (Umayyad) แห่งแบกแดดนำทัพที่ประกอบด้วยทหารชาวเบอร์เบอร์และอาหรับจำนวน 8,000 นายข้ามจากอัฟริกาเหนือขึ้นฝั่งบริเวณนี้ และจากชายฝั่งริมผาสูงนี้เองที่กองทัพอาหรับ-เบอร์เบอร์รุกเข้ายึดครองแผ่นดินสเปนและดำรงอยู่บนแผ่นดินนี้ยาวนานเกือบ 800 ปีจนกระทั่งต้น ค.ศ.1492 นั่นแหละที่ทหารอาหรับ-เบอร์เบอร์คนสุดท้ายได้ถอนตัวออกจากแผ่นดินสเปน เป็นอันสิ้นสุดการยึดครอง สิ่งที่ทิ้งไว้บนแผ่นดินนี้คือมรดกความรุ่งเรืองทางอารยธรรมของอาหรับและเบอร์เบอร์รวมทั้งศิลปะวิทยาการต่างๆอีกมากมาย ไม่ว่าชาวสเปนจะชอบหรือไม่ชอบ ไม่ว่าจะขมขื่นหรือหอมหวานกับอดีตยาวนาน 800 ปีที่ใช้ชีวิตร่วมกับชาวอาหรับ-เบอร์เบอร์ แต่นักประวัติศาสตร์ต่างยอมรับว่าเมื่อชาวยุโรปทอดทิ้งอารยธรรมกรีกและโรมันโบราณไว้กับอดีต อารยธรรมอิสลามจากอาระเบียนี่เองที่นำอารยธรรมกรีกโรมันมาต่อยอดกระทั่งสร้างยุคทองของโลกอิสลามขึ้น ก่อนจะถ่ายทอดกลับสู่ยุโรปผ่านหลายช่องทางเช่นไซปรัส เวนิส ซิซิลี รวมไปถึงสเปนกระทั่งทำให้ยุโรปฟื้นตัวจากความล้าหลังของยุคมืดเข้าสู่ยุครำไรทางศิลปะวิทยาการที่เรียกว่าเรเนสซองค์ (Renaissance) ก่อนเข้าสู่ยุคเรืองรองกระทั่งผ่านเข้าสู่ยุคใหม่กลายเป็นเจ้าแห่งอาณาจักรทั้งปวงไปในที่สุด มุสลิมอาหรับ-เบอร์เบอร์จึงนับเป็นหนึ่งจิ๊กซอว์สำคัญที่ชนยุโรปจำต้องรำลึกถึงบุญคุณไว้ ไม่มีชนกลุ่มนี้ย่อมไม่มีชนยุโรปที่รุ่งเรืองเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน