อาหรับ-เบอร์เบอร์ มุสลิมผู้สร้างอารยธรรมอิสลามในสเปน ตอนที่ 17

กรุงโรมรุ่งเรืองมาก่อนคริสตกาลนานหลายร้อยปี ขยายอาณาจักรไปกว้างไกลกระทั่งใกล้คริสตกาลจึงเริ่มความเป็นจักรวรรดิขึ้นเมื่อขยายอาณาจักรข้ามทวีปเข้าไปในอัฟริกา รุ่งเรืองเป็นจักรวรรดิเช่นนั้นกระทั่งถึงศตวรรษที่ 4 เมื่อชนเยอรมันเผ่ากอธและวิสิกอธจากยุโรปตะวันออกพากันอพยพหลบภัยจากชนฮั่นซึ่งเป็นเติร์กกลุ่มหนึ่งที่มาจากตะวันออก ชนวิสิกอธหนีภัยเข้าไปในกอลหรือฝรั่งเศสก่อนขยายพื้นที่เข้าสู่ไอบีเรียกระทั่งสร้างอาณาจักรวิสิกอธขึ้นมาได้ ขับไล่อำนาจของโรมันออกจากพื้นที่และทำการปกครองก่อนร่วมกับชนหลายกลุ่มเข้าทำลายกรุงโรมช่วงกลางศตวรรษที่ 5 เป็นอันสิ้นสุดจักรวรรดิโรมันตะวันตก วิสิกอธสร้างอาณาจักรปกครองแผ่นดินสเปนมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 5 ยาวนานต่อเนื่องกันสามร้อยปีมีกษัตริย์ปกครอง 13 พระองค์กระทั่งเข้าศตวรรษที่ 8 ใน ค.ศ.711 กองทัพมุสลิมอาหรับ-เบอร์เบอร์จากอัฟริกาเหนือนำโดยตอริฆ อิบนฺ ซิยาด ข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนรุกไล่กองทัพวิสิกอธก่อนได้รับการเสริมจากกองทัพที่นำโดยมูซา อิบนุ นูเซร ใช้เวลา 7 ปีในการยึดครองไอบีเรียทั้งหมด คำถามมีว่าเหตุใดกองทัพอาหรับ-เบอร์เบอร์ที่มีจำนวนเริ่มต้นเพียง 7,000 นาย ส่วนใหญ่เป็นชนเบอร์เบอร์ที่เพิ่งเปลี่ยนศาสนาเป็นอิสลามจึงสามารถเอาชนะกองทัพวิสิกอธที่มีกำลังพลนับแสนนายที่นำโดยกษัตริย์โรเดอริก (Roderic) ซึ่งครองราชย์ระหว่าง ค.ศ.710-711 ได้อย่างง่ายดาย คำตอบต่อคำถามนี้มีไม่ชัดเจนนัก ทว่านักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่พุ่งเป้าไปที่ความแตกแยกกันในกลุ่มขุนนางของวิสิกอธช่วงเวลานั้น เกิดเป็นตำนานหลายเรื่องซ้อนทับกันอยู่กระทั่งไม่รู้ว่าเรื่องจริงเป็นอย่างไรตำนานที่พอยอมรับได้มีสองเรื่องคือเรื่องแรกกษัตริย์โรเดอริกปกครองอย่างโหดเหี้ยมทำให้เมืองต่างๆพากันแข็งขืนโดยเคาท์จูเลียน หนึ่งในเจ้าเมืองที่ถูกข่มเหงคือผู้ชักชวนกองทัพมุสลิมให้เข้ามาโค่นล้มกษัตริย์โรเดอริก กล่าวกันว่ากษัตริย์โรเดอริกทรงข่มขืนลูกสาวของเจ้าเมืองผู้นั้น ขณะที่อีกตำนานหนึ่งกล่าวถึงการรัฐประหารเมื่อกษัตริย์วิตติซา (Wittiza) สวรรคต ขุนนางในโทเลโดซึ่งเป็นเมืองหลวงร่วมกันถอดรัชทายาทของกษัตริย์วิตติซาออกจากบัลลังค์และยกโรเดอริกหนึ่งในขุนนางขึ้นเป็นกษัตริย์ ราชินีหม้ายของอดีตกษัตริย์วิตติซาจึงขอความช่วยเหลือจากมูซา อิบนฺนูเซร เจ้าเมืองอิฟริฆิยะฮฺในอัฟริกาเหนือ สาเหตุที่กษัตริย์โรเดอริกพ่ายแพ้ง่ายดายนักเนื่องจากเจ้าเมืองหลายแห่งเข้าร่วมกับราชินี เรื่องราวที่แท้จริงเป็นอย่างไรยังคงเป็นปริศนาอีกหนึ่งตำนานคือความขัดแย้งระหว่างมูซาผู้ว่าการอิฟริฆิยะฮฺกับตอริฆเจ้าเมืองแทนเจียร์ ความสำเร็จของตอริฆภายในปีเดียวกระทั่งสามารถสังหารกษัตริย์โรเดอริกได้ในการรบที่แม่น้ำกัวดาลีต (Battle of Guadalete) ค.ศ.711 ส่งผลให้มูซานำกองทัพเข้าร่วมโดยมอบให้บุตรชายคืออับดุลอัลอาซิส อิบนฺมูซา (Abd al Aziz ibn Musa) ปกครองโทเลโดแทนที่จะมอบให้ตอริฆ ข่าวความขัดแย้งเมื่อไปถึงกรุงดามัสกัส ทั้งมูซาและตอริฆถูกเรียกให้ไปรายงานตัวที่ดามัสกัสใน ค.ศ.714 ขณะที่ในเมืองโทเลโด อับดุลอัลอาซิสแต่งงานกับเอจิโล (Egilo) ราชินีหม้ายของกษัตริย์โรเดอริกก่อนถูกรุมสังหารโดยขุนศึกเบอร์เบอร์ใน ค.ศ.716 วุ่นวายกันถึงขนาดนั้น #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #มุสลิมสเปน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *