อาหรับ-เบอร์เบอร์ มุสลิมผู้สร้างอารยธรรมอิสลามในสเปน ตอนที่ 14

มหากาพย์การปกครองของมุสลิมในสเปนนับกันตั้งแต่วันที่ 29 เมษายน ค.ศ.711 เมื่อตอริฆ อิบนฺซิยาด ยาตราทัพอาหรับ-เบอร์เบอร์จากอัฟริกาเหนือขึ้นฝั่งบนแผ่นดินสเปนทางยุโรปตะวันตกเฉียงใต้บริเวณที่เรียกกันในภายหลังว่าภูเขาแห่งตอริฆหรือ “ยิบรอลตาร์” (Gibraltar) ก่อนขยายอำนาจไปทั่วไอบีเรีย วันเวลาผ่านมากระทั่งถึงวันที่ 2 มกราคม ค.ศ.1492 สุลต่านอะบูอับดัลลาฮฺ มุฮัมมัดที่ 12 (Abu Abdallah Muhammad XII) ที่รู้จักกันในพระนาม “โบอับดิล” (Boabdil) นำทัพอาหรับ-เบอร์เบอร์และชาวเมืองกรานาดายอมจำนนต่อกองทัพของกษัตริย์เฟอร์ดินาลที่ 5 (King Ferdinand V) และราชินีอิซาเบลลาที่ 1 (Queen Isabella I) แห่งสเปนก่อนถอนตัวออกจากไอบีเรียสิ้นยุคมุสลิมปกครองสเปนยาวนาน 780 ปี 8 เดือน 3 วันแม้ผู้ปกครองมุสลิมถอนตัวไปหมดสิ้นแล้ว สิบปีหลังจากนั้นใน ค.ศ.1502 มุสลิมนับแสนที่ยังหลงเหลืออยู่ในสเปนถูกบังคับให้เปลี่ยนศาสนาเป็นคาธอลิก กระทั่งอีกร้อยปีต่อมาถึง ค.ศ.1609 ลูกหลานชาวคาธอลิกที่สืบเชื้อสายมาจากมุสลิมที่ถูกบังคับให้เปลี่ยนศาสนามาตลอดระยะเวลาก่อนหน้านั้นทั้งยังต้องทนทุกข์กับการกดขี่ข่มเหงมาตลอดร้อยปีต่างถูกขับไล่ออกจากสเปนจนหมดสิ้นไม่เหลือหรอ มองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ทั้งก่อนและหลัง ค.ศ.1492 ความเป็นปฏิปักษ์ระหว่างมุสลิมและคริสต์เริ่มมาตั้งแต่ครั้งสงครามครูเสดช่วงปลายศตวรรษที่ 11 ถึงปลายศตวรรษที่ 13 อีกทั้งการก้าวขึ้นมาของจักรวรรดิอุสมานียะฮฺได้สร้างแรงกดดันมหาศาลแก่หลายอาณาจักรในยุโรปรวมถึงสเปนที่ก้าวขึ้นเป็นจักรวรรดิใหม่ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 15 เหล่านี้เองที่ผลักดันให้หลายชาติในยุโรปตั้งตนเป็นปฏิปักษ์ต่อจักรวรรดิมุสลิมนับแต่นั้นจนกระทั่งหลังจากนั้นความสัมพันธ์ระหว่างมุสลิมกับคริสต์ในสเปนจะเป็นอย่างไรไม่สำคัญเท่ากับสิ่งที่มุสลิมทิ้งไว้เป็นมรดกตกทอดในแผ่นดินสเปนและปอร์ตุเกส สำนักข่าวบีบีซีของสหราชอาณาจักรทำสารคดียอมรับว่าสิ่งที่อิสลามทิ้งไว้ในสเปนคืออารยธรรมความรุ่งโรจน์ในเกือบทุกด้าน ทั้งศิลปกรรม สถาปัตยกรรม วิศวกรรม วิทยาศาสตร์ การแพทย์ กวีนิพนธ์ นวัตกรรมสารพัด เสริมเติมเข้ากับอารยธรรมอิสลามที่หลั่งไหลมาทางตะวันออกจากจักรวรรดิอับบาสิยะฮฺผ่านทางซิซิลีและหลายพื้นที่ทางยุโรปตะวันออกร่วมกันปลุกยุโรปเข้าสู่ยุคเรเนสซองค์และยุครุ่งเรืองทางปัญญา (Enlightenment) สร้างยุโรปที่มั่งคั่งขึ้นในที่สุด นี่คือสิ่งที่อิสลามจากอาหรับและเบอร์เบอร์ทิ้งไว้ในสเปนและอิสลามจากอาหรับ เปอร์เซียและเติร์กทิ้งไว้เป็นมรดกให้กับยุโรปในระยะแรกเมื่อความขัดแย้งระหว่างคริสต์ยุโรปกับมุสลิมในตะวันออกกลางและอัฟริกาเหนือยังมีอยู่สูง เรื่องราวของอิสลามในสายตาชาวยุโรปเต็มไปด้วยอคติ ทว่าเมื่อเข้าสู่ยุคดิจิตอล ข้อเท็จจริงถูกเปิดเผยสู่สายตาผู้เรียนรู้ยุคใหม่มากขึ้น หลายสื่อตะวันตกต่างเขียนถึงความสัมพันธ์ระหว่างโลกมุสลิมในอดีตกับยุโรปยุคเก่าในแง่มุมที่เปิดกว้างมากขึ้น มีทั้งขมขื่นและหวานชื่นสลับไปมาอันเป็นปกติ สิ่งสำคัญมิใช่อดีตทว่าคืออนาคตที่ต้องยืนหยัดอยู่ด้วยกันอย่างจิรังนับจากนี้ พวกเราลองใช้เวลาศึกษาเรื่องราวของมุสลิมในสเปนจึงน่าจะดีกว่า #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #มุสลิมในสเปน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *