คัมภีร์อัลกุรอานคือหนึ่งในความมหัศจรรย์ของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม (ศ็อลฯ) มุสลิมเชื่อมั่นกันอย่างนั้น ใน 6,236 วรรคหรืออายะฮฺในอัลกุรอาน มีไม่ต่ำกว่าร้อยละสิบที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อัลกุรอานกล่าวถึงหลายสิ่งหลายอย่างที่ไม่มีทางที่มนุษย์ในอดีตช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 7 จะล่วงรู้ วันเวลาผ่านมากระทั่งความรู้ของมนุษย์ค่อย ๆ สะสมมากขึ้นนั่นแหละจึงยืนยันได้ว่าเรื่องราวที่ระบุในอัลกุรอานนั้นคือความจริง เป็นเช่นนี้เองจึงกล่าวว่าอัลกุรอานคือความมหัศจรรย์ของท่านนบีมุฮัมมัด
ความจริงเชิงวิทยาศาสตร์ที่ระบุในอัลกุรอาน มีตั้งแต่เรื่องน้ำสร้างชีวิต การกำเนิดจักรวาลจากจุดเล็กก่อนขยายออก (Big Bang) การคาดการณ์เรื่องการหดตัวของจักรวาล (Big Crunch) การพัฒนาชีวิตจากไข่ (คัพภวิทยา) การปกป้องโลกของชั้นบรรยากาศ ธาตุเหล็กจากอวกาศ ความแตกต่างของทะเล การโคจรของดวงอาทิตย์และดวงดาว ภูเขาที่ทำหน้าที่เสมือนเสาค้ำยัน ระบบประสาทบริเวณผิวหนัง คลื่นใต้ท้องทะเล การทำหน้าที่ของสมองส่วนหน้า ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะการกำเนิดจักรวาลและโลกก็แล้วกัน
อัลกุรอานระบุถึงการสร้างจักรวาลไว้ในบทอัล-อะอฺรอฟ 7:54 ว่า “แท้จริงพระเจ้าของพวกเจ้านั้นคืออัลลอฮฺผู้ทรงสร้างบรรดาชั้นฟ้าและแผ่นดินในหกวัน แล้วสถิตย์อยู่บนบัลลังก์พระองค์” ทั้งยังระบุถึงการสร้างโลกในบทฟุศศิลัต 41:9 “จงกล่าวเถิดมุฮัมมัด พวกท่านปฏิเสธศรัทธาต่อพระผู้สร้างแผ่นดินเพียงในสองวัน” หมายถึงสร้างจักรวาลในหกวัน สร้างโลกในสองวัน โดยเป็นวัน ณ บัลลังก์ของอัลลอฮฺ มิใช่วันบนโลก สรุปได้ว่าอายุของโลกคือหนึ่งในสามของจักรวาล หรือหกหารด้วยสอง ลองไปคำนวณกันจากความรู้ที่มีอยู่ในปัจจุบัน จะได้รู้ว่าวัน ณ บัลลังก์ของอัลลอฮฺนั้นยาวนานมหาศาลสักแค่ไหน
จากทฤษฎีของบิกแบง นักวิทยาศาสตร์คำนวณอายุของจักรวาลได้ 13.82 พันล้านปี เมื่ออัลกุรอานระบุว่าโลกอายุหนึ่งในสามของจักรวาลย่อมหมายความว่าโลกมีอายุเท่ากับ 13.82 หารด้วย 3 เท่ากับ 4.6 พันล้านปี ได้ตัวเลขใกล้เคียงกับการคำนวณของนักวิทยาศาสตร์ที่ระบุว่าโลกมีอายุ 4.523-4.6 พันล้านปี นี่เองคือหนึ่งในความมหัศจรรย์ของอัลกุรอาน ในวรรคหรืออายะฮฺที่ปรากฏในอัลกุรอานที่กล่าวถึงข้างต้นนี้ กล่าวถึงวันเวลาบนบัลลังก์ของอัลลอฮฺ เมื่อคำนวณคร่าว ๆ เป็นไปได้ว่าหนึ่งวัน ณ บัลลังก์ของอัลลอฮฺยาวนานเท่ากับ 13.82 หารด้วย 6 มีค่าเท่ากับ 2.303 พันล้านปีโลก จริงหรือไม่ที่หนึ่งวันในคนละสถานที่คนละสถานการณ์มีช่วงเวลาที่ต่างกัน
ความรู้ในปัจจุบันพบว่าการเคลื่อนที่ของเวลายาวนานไม่เท่ากันในกรณีที่มีแรงโน้มถ่วงสูงหรือในสถานที่ที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูง ด้วยเหตุนี้ผู้ที่อยู่ในย่านสนามโน้มถ่วงสูง หรือเคลื่อนตัวด้วยความเร็วสูง เวลา ณ ที่นั้นจะดำเนินไปช้ามากเมื่อเทียบกับเวลาบนโลก อย่างที่เคยบอกไว้ อัลกุรอานนั้นเขียนในลักษณะร้อยแก้ว เชิงอุปมาอุปมัย ลองพิจารณาเวลาบนโลกมนุษย์เปรียบเทียบกับเวลา ณ บัลลังค์ของอัลลอฮฺ จะเห็นได้ว่าแตกต่างกันมากมายมหาศาลเพียงไหน
#ดรวินัยดะห์ลัน, #drwinaidahlan, #อายุของจักรวาลและโลก, #อัลกุรอาน