อัลกุรอานกับงานวิทยาศาสตร์ฮาลาล

พักนี้ผมไปอินโดนีเซียบ่อยเพื่อบรรยายเรื่องวิทยาศาสตร์ฮาลาลในหลายมหาวิทยาลัย คำถามที่เจอบ่อยคือรู้กันอยู่ว่าวิทยาศาสตร์ธรรมดาตอบคำถามเรื่องฮาลาลหะรอมไม่ได้ เมื่อครั้งที่เริ่มงานวิทยาศาสตร์ฮาลาล ใน ค.ศ.1995 ผมใช้คำสอนบทไหนในอัลกุรอานในการเริ่มงานนี่คือคำถาม ผมใช้เวลาเป็นสิบปีวิเคราะห์คำถามนี้ เพิ่งได้คำตอบเมื่อไม่นานมานี้เองเมื่อกล่าวถึงฮาลาลหรือสิ่งที่อนุมัติตามหลักบัญญัติอิสลาม ปัญหาใหญ่คือการยืนยันสภาพฮาลาลของอาหาร (Halalness of foods) ซึ่งซับซ้อนเนื่องจากกระบวนการผลิตอาหารเชิงอุตสาหกรรมสมัยใหม่มีขั้นตอนมากมาย ความผิดพลาดต้องไม่เกิดขึ้น ในคัมภีร์อัลกุรอาน บท (ซูเราะฮฺ) ที่ 10 “ยูนุส” ในวรรค (อายะฮฺ) ที่ 59 มีโองการว่า “พวกท่านทำให้บางส่วนเป็นที่ต้องห้าม (หะรอม) และบางส่วนเป็นที่อนุมัติ (หะลาล) อัลลอฮฺทรงอนุมัติแก่พวกท่าน หรือพวกท่านปั้นแต่งแก่อัลลอฮฺ” ฟังแล้วบอกตามตรงว่าออกอาการหนาวสะท้าน อย่างไรก็ตามอัลกุรอานชี้นำถึงทางออกในคัมภีร์อัลกุรอาน บทที่ 21 “อัลอัมบิยา” วรรคที่ 7 มีโองการว่า “จงถามผู้รู้เถิดหากพวกเจ้าไม่รู้” นักวิชาการศาสนาอิสลามจึงสมควรขอความเห็นจากผู้รู้ด้านองค์ประกอบของอาหารอันได้แก่นักวิทยาศาสตร์ด้านอุตสาหกรรมอาหาร ในอัลกุรอานใช้คำว่า “อัซซิกริ” (ٱلذِّكْرِ) ซึ่งหมายถึงผู้รู้แจ้งในเชิงจิตวิญญาณ ผู้รู้ด้านวิทยาศาสตร์คนที่ว่าจึงต้องรู้อย่างแจ่มชัดทั้งด้านวิทยาศาสตร์ ด้านอุตสาหกรรมอาหารและบทบัญญัติแห่งอิสลามที่เกี่ยวข้อง ต้องศรัทธาในอิสลาม นี่คือสิ่งที่คัมภีร์อัลกุรอานชี้เป็นทางนำไว้ คัมภีร์อัลกุรอาน บทที่ 18 “อัลกะฮฺฟฺ” วรรคที่ 60 มีโองการว่า “ฉันจะยังคงเดินทางต่อไปจนบรรลุสู่ชุมทางแห่งสองทะเล” คำว่าชุมทางแห่งสองทะเลนั้น ภาษาอาหรับใช้คำว่า “มัจมะอัลบะฮฺรอยนฺ” (مَجْمَعَ ٱلْبَحْرَيْنِ) อัลมัรฮูม ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ผู้ล่วงลับไปแล้วเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเลขาธิการอาเซียน กล่าวกับผมว่าศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำเป็นต้องทำหน้าที่เป็นหนึ่งในจุดบรรจบของสองทะเลนั้น โดยต้องสร้างบุคลากรที่รู้แจ้งในสองสาขาที่แตกต่างกันนั่นคือด้านวิทยาศาสตร์และด้านบัญญัติอิสลามที่เกี่ยวข้องเพื่อให้คำแนะนำที่ถูกต้องแก่นักวิชาการศาสนาอิสลามที่ทำหน้าที่ตัดสินสิ่งที่ฮาลาลหรือหะรอม ย้อนกลับไปที่อินโดนีเซียกับคำถามที่ว่าผมเริ่มงานวิทยาศาสตร์ฮาลาลในประเทศไทยอย่างไร ผมตอบว่าเริ่มด้วยการสร้าง “อัซซิกริ” ผู้รู้ในสองด้านนั่นคือด้านวิทยาศาสตร์และด้านบัญญัติอิสลามที่เกี่ยวข้อง ผมเรียกนักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้ว่า “นักวิทยาศาสตร์ฮาลาล” (Halal scientists) ผมย้ำด้วยว่าในอนาคต ผู้ที่ทำหน้าที่หลักในการสร้างนักวิทยาศาสตร์ฮาลาลสมควรเป็นมหาวิทยาลัยในอินโดนีเซียซึ่งมีความพร้อมทั้งด้านจำนวนบุคลากร ด้านบัญญัติอิสลามและด้านวิทยาศาสตร์ ภารกิจตกอยู่บนบ่าของพวกท่านแล้ว ผมตอบไปอย่างนั้น #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #นักวิทยาศาสตร์ฮาลาล

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *