อบเชย (Cinnamon) กับประโยชน์ที่ได้ต่อสุขภาพ ตอนที่ 5

อบเชยชนิดที่นิยมนำมาใช้ในการแก้ปัญหาเบาหวานเป็นอบเชยจีน ซึ่งนิยมใช้กันทางเอเชียใต้ ในงานการศึกษาวิจัยซึ่งทำกันในผู้ป่วยเบาหวานเชื้อสายปากีสถานเขาใช้อบเชยจีน แต่ไม่ได้หมายความว่าอบเชยชนิดอื่นจะนำมาใช้ลดน้ำตาลในเลือดไม่ได้ เพียงแต่ยังไม่มีการศึกษาอย่างกว้างขวางเหมือนอบเชยจีนเท่านั้น และนี่คือข้อได้เปรียบของอบเชยจีนหรืออบเชยที่ใช้ทำพะโล้เมื่อเทียบกับอบเชยชนิดอื่นๆ รวมทั้งยังเป็นข้อได้เปรียบของการศึกษาวิจัยที่ทำให้ได้ข้อมูลเชิงวิชาการที่น่าเชื่อถือ

ด้วยเหตุนี้เองทำให้ต้องระวังอยู่สองประการในกรณีของอบเชย นั่นคือเรื่องชนิดของอบเชยและเรื่องของสารพฤกษเคมีหรือไฟโตนิวเทรียนท์ที่พบในอบเชย โดยพักหลังๆมีการพูดเรื่องสรรพคุณของอบเชยทางด้านการรักษาเบาหวานกันค่อนข้างมาก จนกระทั่งทำให้อบเชยแปลงสภาพกลายเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยอดนิยมชนิดหนึ่งไปแล้ว โดยมีการผลิตในรูปของแคบซูล หากจะซื้อลองดูด้วยว่าเป็นชนิด cassia หรืออบเชยจีนหรือเปล่า หากไม่ใช่อบเชยจีนคงต้องอดทนรอข้อมูลการศึกษาวิจัยในอบเชยชนิดอื่นๆดูก่อน

กรณีของสารไฟโตนิวเทรียนท์หรือสารพฤกษเคมี ปรากฏว่ามีการพูดถึงเรื่องสารที่เรียกว่า methylhydroxychalcone polymer (MHCP) โดยมีการกล่าวอ้างสรรพคุณของสารตัวนี้กันมากถึงขนาดมีการทำสารสกัด MHCP ออกมาขายราคาแพงในรูปแคบซูล กระทั่งกลายเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยอดนิยมตัวหนึ่งในต่างประเทศ ประเทศไทยมีผู้นำเข้ามาจำหน่ายเหมือนกัน เรื่องนี้คงต้องระวังไว้เพราะผู้ที่ทำวิจัยเรื่องอบเชยกับเบาหวานและนำเอาเรื่อง MHCP มาเปิดเผยเป็นกลุ่มแรกๆคือ ดร. ริชาร์ด แอนเดอร์สันเองยังออกมาให้ข้อมูลว่าสารที่ออกฤทธิ์ในอบเชยที่แต่เดิมเข้าใจว่าเป็น MHCP น่าจะเป็นสารชนิดที่เรียกว่า polyphenol type-A polymer เสียมากกว่า สรุปเอาเป็นว่าอย่าเพิ่งไปสนใจกับไฟโตนิวเทรียนท์ตัวไหนเลย สนใจอบเชยในรูปอาหารนั่นแหละดีที่สุด

ในอบเชยมีสารไฟโตนิวเทรียนท์อยู่หลายชนิด เป็นทั้งชนิดน้ำมันหอมระเหยและชนิดที่เป็นสารละลายน้ำ กลุ่มที่น่าจะให้ประโยชน์ทางด้านการลดระดับน้ำตาลและไขมันเชื่อกันว่าอยู่ในกลุ่มที่ละลายน้ำซึ่งมีรสแต่ให้กลิ่นต่ำ ดังนั้น ใครที่เคยเชื่อว่าอบเชยชนิดที่มีกลิ่นหอมจะมีสรรพคุณทางด้านสมุนไพรดีกว่าชนิดไม่มีกลิ่นจึงเป็นเรื่องเข้าใจผิด เหตุนี้เองที่ทำให้อบเชยศรีลังกาและอบเชยชวาที่ให้กลิ่นจรุงใจมากกว่าใครอื่นแทบไม่ได้รับความสนใจในกรณีสรรพคุณด้านการลดน้ำตาลในเลือดเลย ในขณะที่อบเชยสีไม่สวย กลิ่นต่ำอย่างอบเชยจีน หรือแม้กระทั่งอบเชยญวนที่ปลูกได้ดีในบ้านเรากลับกลายเป็นอบเชยที่แสดงบทบาทเป็นพระเอกมากกว่า #Drwinaidahlan#ดรวินัยดะห์ลัน#อบเชย#cinnamon

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *